- Details
- Category: ไฟฟ้า ลม โซลาร์
- Published: Wednesday, 01 November 2023 18:57
- Hits: 3095
MEA ร่วม ม.สงขลานครินทร์ ลงนามสัญญาโครงการให้บริการติดตั้ง Solar Rooftop
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2566) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมพิธีลงนามสัญญาให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ระหว่าง การไฟฟ้านครหลวงกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ ห้องสัมมนา 3 อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงมีระบบบริหารจัดการพลังงานที่สามารถบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยการบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และสมาร์ทกริด เพื่อใช้บริหารจัดการพลังงานภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขต มีกำลังผลิตติดตั้งรวมกว่า 11 MWp คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลประมาณ 16,829,564 kWh/ปี คิดเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลง 7,840 tonCo2/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นสัก 445,447 ต้น/ปี
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้า Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065 อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการที่จะเกิดขึ้นจากสัญญาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย ม.อ. มีแนวคิดการดำเนินการ “โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และสมาร์ทกริด” เพื่อใช้ในการจัดการด้านพลังงานของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต ร่วมกัน ด้วยนโยบายบริหารเชิงระบบแบบ PSUnity System อันเป็นการสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักสากล SDGs (Sustainable Development Goals) แบบองค์รวม ซึ่งยังส่งผลให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศในการผลิตไฟฟ้า และที่สำคัญจะเป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐ เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และยังสอดคล้องกับนโยบายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยฯ หรือ PSU Carbon Neutrality 2038
ความร่วมมือระหว่าง ม.อ. และ MEA ในโครงการฯ นี้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยมุ่งเน้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ในด้าน Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ที่คำนึงถึงการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ลดภาวะโลกร้อน และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ต่อทั้งมหาวิทยาลัยฯ สังคม ประชาชน และโลกของเรา
สำหรับปี 2566 นี้ MEA ได้ให้บริการติดตั้งระบบพลังงานทดแทน และบริหารจัดการพลังงานให้หน่วยงานภาครัฐตามตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี รวม 11 แห่ง มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 17 MWp ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลประมาณ 21,270,000.00 kWh/ปี คิดเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลง 11,900 tonCo2/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นสัก 680,000 ต้น/ปี
11063