- Details
- Category: ไฟฟ้า ลม โซลาร์
- Published: Wednesday, 16 March 2022 13:54
- Hits: 14498
รัฐรับมือใช้ไฟเขตอีอีซีพุ่ง สนพ.พยากรณ์ 20 ปี ใช้เพิ่มขึ้นอีก 404 เมกะวัตต์
สนพ.เผยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซี 20 ปี ข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีก 404 เมกะวัตต์ โดยประเมินจากการลงทุนในโครงการต่างๆ แล้ว เตรียมนำบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ รับการจัดหาไฟฟ้าป้อนในอนาคต
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยในงานสัมมนาจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศว่า ขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งได้นำความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เข้ามาเป็นปัจจัยในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วง 20 ปีข้างหน้าไว้ด้วย นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ
ทั้งนี้ จากการจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบื้องต้นในพื้นที่อีอีซี ตามโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง รถไฟรางคู่ ทางหลวงและมอเตอร์เวย์ อีกทั้ง ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการบิน หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เคมีชีวภาพชั้นสูง และการแพทย์ครบวงจร รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาเมืองใหม่ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล(อีอีซีดี) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซีไอ)
โดยประเมินเบื้องต้นว่า จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะ 20 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 404 เมกะวัตต์ หรือราว 2,765 ล้านหน่วย เมื่อสิ้นสุดปี 2579 จากปี 2559 ก่อนที่นโยบายอีอีซีจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ราว 8 พันเมกะวัตต์ หรือ 2.683 หมื่นล้านหน่วยต่อปี ซึ่งหากมีการลงทุนเกิดขึ้นจริง หลังจากที่พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกาศบังคับใช้ต้นปี 2561 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ที่ระดับ 170 เมกะวัตต์ หรือกว่า 1.35 พันล้านหน่วยต่อปี และจะขึ้นไปที่ระดับ 300 เมกะวัตต์ หรือกว่า 2 พันล้านหน่วยต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทยอยลงทุนตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป และโครงสร้างพื้นฐานได้ทยอยแล้วเสร็จ จึงส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนสูงสุด โดยให้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปี 2561 จะทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน สามารถที่จะนำเข้ารถยนต์อีวีมาทดสอบตลาดได้นั้น จากการประเมินเบื้องต้น หากการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 1% จะทำให้มีรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1.2 ล้านคันเมื่อสิ้นสุดปี 2579 จะส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 2,466 เมกะวัตต์ หรือราว 5,783 ล้านหน่วยต่อปี ขณะที่รถไฟความเร็วสูง 4 เส้น จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 163 เมกะวัตต์ หรือราว 1,324 ล้านหน่วยต่อปีเท่านั้น เมื่อสิ้นสุดปี 2579
ดังนั้น จากความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้ง 3 ส่วนนี้ จะถูกนำมาเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง ในการจัดทำแผนพีดีพี เพื่อเตรียมความพร้อมหรือรองรับการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต