- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 06 February 2023 14:46
- Hits: 1539
สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 12 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ธันวาคม) เฉลี่ยอยู่ที่ 151.16 ล้านลิตร/วัน
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 151.16 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.6 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และการใช้ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.9 ขณะที่การใช้น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 15.9 ทั้งนี้ ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวชาวต่างขาติที่ให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ประกอบกับคนไทยมีการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.16 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 สำหรับการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.02 ล้านลิตร/วัน 16.28 ล้านลิตร/วัน และ 0.83 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 5.50 ล้านลิตร/วัน และ 0.52 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 73.05 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.7 เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ของมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวนทั่วโลก สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63.88 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.70 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 2.29 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.19 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วขั้นต่ำที่เท่ากันทุกชนิด
สำหรับ การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนธันวาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.91 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.2 โดยการใช้น้ำมันดีเซลในภาคไฟฟ้ามีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.38 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 179.7 เป็นผลจากการนำไปผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.95 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 91.6 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจเดินทางมาเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะเดือนธันวาคม ส่งผลให้ความต้องการใช้มีแนวโน้มดีขึ้น การใช้ LPG ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.49 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.9 เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคขนส่งอยู่ที่ 2.19 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.03 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ภาคปิโตรเคมีอยู่ที่ 7.54 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.74 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6
การใช้ NGV ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.9
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 991,268 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.4 โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 913,297 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 104,790 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.7 สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 77,971 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 7,412 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปปี 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 159,414 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 21.5 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 20,155 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1
สำหรับ ปี 2566 คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลง ประกอบกับจีนได้มีการสิ้นสุดมาตรการ ZERO COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ชาวจีนสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นที่อาจส่งผลกระทบ โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว