- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Friday, 26 August 2022 08:21
- Hits: 5071
มติ กบง. ช่วยเหลือราคาค่าก๊าซหุงต้ม - ค่าไฟฟ้า บรรเทาผลกระทบประชาชน
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 ได้มีการพิจารณา ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคา LPG โดยมีโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดโครงการฯ วันที่ 30 ก.ย. 65 แต่เนื่องจากราคา LPG ยังคงอยู่ในระดับที่สูง
ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการฯ อีกประมาณ 3 เดือนโดยจะเริ่มประมาณกลางเดือนต.ค. ถึง ธ.ค. 65 โดยมอบหมายให้ กรมธุรกิจพลังงานนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการฯ และจัดทำคำขอรับงบประมาณเพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการฯ เสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอย่างเร่งด่วน จึงได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ดังนี้
1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย. - ธ.ค. 65 (ประกอบด้วยส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือน พ.ค. - ส.ค. 65 จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือน ก.ย. - ธ.ค. 65 จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย)
2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือน ก.ย. - ธ.ค. 65 แบบขั้นบันได ในอัตราร้อยละ 15 -75
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ กฟน. และ กฟภ. จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณร้อยละ 80 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้จะดำเนินการให้ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 8,000 ล้านบาทสำหรับ 4 เดือน โดย กบง. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวตามความเหมาะสมต่อไป.
#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ #เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน #CreateTheFutureEnergy #กระทรวงพลังงาน