- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 04 October 2021 12:03
- Hits: 11530
ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังตลาดจับตาการประชุมโอเปกพลัสสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าสูงสุดในรอบ 1 ปี
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2564
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4 – 8 ต.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบผันผวน โดยตลาดจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในสัปดาห์ที่มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิมที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค. 64 ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการใช้น้ำมันในการทำความร้อนและอุตสาหกรรม รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ระดับสูง หนุนการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่า แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการ QE ในช่วงเดือน พ.ย. 64 ทำให้ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ในการประชุมวันที่ 4 ต.ค. 64 นี้ กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีแนวโน้มคงมติเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตที่ประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน สำหรับปริมาณการผลิตในเดือน พ.ย. 64 แม้ว่าหลายประเทศ อาทิเช่น สหรัฐฯ จะออกมาเรียกร้องให้โอเปกทำเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ทั้งนี้บางประเทศสมาชิกของกลุ่มโอเปกพลัส เช่น ไนจีเรีย แองโกลา ยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลง ให้เพียงพอต่อการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงและการลงทุนอย่างจำกัดในช่วงที่ผ่านมา
บริษัท Petrochina และ Hengli Petrochemical เป็นผู้ชนะการประมูลน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ หลังรัฐบาลจีนประกาศขายเพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบของโรงกลั่นภายในประเทศ โดยปริมาณที่ทั้งสองบริษัทประมูลได้นั้นตกราว 4.43 ล้านบาร์เรลหรือราว 60% ของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ที่ออกขายทั้งหมด ทั้งนี้ราคาได้ประมูลได้นั้นอยู่อยู่ที่ราว 65-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน นักวิเคราะห์จาก Wood Mackenize คาดว่าจีนน่าจะออกขายน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ราว 33-82.5 ล้านบาร์เรล จากปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมด 340 ล้านบาร์เรล
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 418.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ โรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพียงเล็กน้อยแตะระดับ 88.1%
สถานการณ์การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในจีน กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ต้องลดหรือหยุดดำเนินการผลิต หลังรัฐบาลจีนประกาศนโยบายเชิงรุก เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากถ่านหิน ตามข้อตกลงกับสหประชาชาติ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในจีน ปรับลดลง ส่งผลให้การผลิตกระแสไฟฟ้าในจีน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
Goldman Sachs คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีโอกาสอยู่ที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลภายในสิ้นปี หลังตลาดน้ำมันดิบค่อนข้างตึงตัวจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาก๊าซธรรมชาติที่สูง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันดิบ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และมีแนวโน้มกดดันราคาน้ำมันดิบ หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะลดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ในเดือน พ.ย. และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีอีกครั้งในวันที่ 2 – 3 พ.ย. 64 เพื่อตัดสินใจ
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมกลุ่มโอเปกพลัสเดือน ต.ค. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 64 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมันเดือน ส.ค.64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 ก.ย. – 1 ต.ค.64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนและในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูง รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลก หนุนการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ