- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 17 May 2021 13:28
- Hits: 3265
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากมาตรการคลายล็อคดาวน์ของยุโรปและสหรัฐฯ
ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19ในอินเดียที่ยังเพิ่มสูงขึ้น กดดันความต้องการใช้น้ำมัน
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 2564
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 – 21 พ.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่อง หลังราคาได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในอินเดีย หลังพบมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้นและมีการกระจายไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามราคาได้รับแรงหนุนความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว จากการคลายมาตรการล็อคดาวน์ในยุโรปและสหรัฐฯ และผลความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก นอกจากนั้นท่อโคโรเนียลที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติ ส่งผลให้ตลาดกังวลการขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปบริเวณฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังเพิ่มสูงขึ้นในอินเดีย ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมากกว่า 4 แสนคนต่อวัน โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลทั่วโลก หลังงานวิจัยชี้ว่า มันเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดได้ง่าย ทำให้หลายพื้นที่ในอินเดียได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ที่ล่าสุดประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ไปจนถึงวันที่ 17 พ.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะยืดเยื้อต่อเนื่อง หลังจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 10% กดดันความต้องการใช้น้ำมัน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศยังถูกจำกัด กดดันความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานต่อเนื่อง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอินเดียที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศประกาศระงับเที่ยวบินจากอินเดียเข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในประเทศจีนที่จำนวนเที่ยวบิน ณ สัปดาห์สิ้นสุด 10 พ.ค. 64 สูงกว่าปี 63 ที่ระดับ 8.6% สอดคล้องกับ Goldman Sachs ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานในเดือน พ.ค. 64 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่า 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. 63
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ฉบับเดือน พ.ค. 64 ปรับลดประมาณการความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 64 เมื่อเทียบกับรายงานเดือน เม.ย. 64 ลง 26,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 96.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 63 สอดคล้องกับรายงานประจำเดือน พ.ค.64 ของโอเปกที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกจะอยู่ที่ระดับ 96.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในอินเดีย บราซิล และยุโรป รวมถึงสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติในสหรัฐฯ ในช่วงเดือนก.พ. 64 อย่างไรก็ตาม IEA คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว จากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะลดความรุนแรงลง
มาตรการล็อคดาวน์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดสหรัฐฯ เป็นชาติแรกที่อนุมัติให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ Pfizer สามารถใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีได้ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เน้นย้ำให้ทุกรัฐในสหรัฐฯ จัดเตรียมวัคซีนสำหรับฉีดให้เด็กต่ำกว่า 12 ปีให้เพียงพอ นับเป็นมาตรการที่จะช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดและทำให้เด็กสามารถกลับเข้าได้เรียนได้อย่างปกติ
ตลาดกังวลปริมาณอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ขาดแคลน หลังท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป โคโลเนียล ไปป์ไลน์ (Colonia Pipeline) ถูกอาชญากรไซเบอร์โจมตีเรียกค่าไถ่เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ท่อขนส่งดังกล่าวต้องหยุดดำเนินการ โดยท่อโคโลเนียลขนส่งน้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันอากาศยานจากบริเวณอ่าวเม็กซิโกไปยังบริเวณฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ปริมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 45% ของปริมาณความต้องการบริเวณฝั่งตะวันออก ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 12 พ.ค. ท่อขนส่งเริ่มกระบวนการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง แต่ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะกลับมาดำเนินการได้ปกติ
หลังคลายมาตรการล็อคดาวน์ เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด หลังยอดส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 32.3% ในเดือน เม.ย.64 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 24.1% นอกจากนั้น ปริมาณการนำเข้าสินค้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ระดับ 43.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจีนในเดือนเม.ย.64 ปรับลด 0.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ 9.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคลังในประเทศจีนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายโรงกลั่นนำน้ำมันคงคลังออกมาทำการผลิต
ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัว หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. ปรับลดลง 427,000 บาร์เรล แตะระดับ 484.7 ล้านบาร์เรล ลดลงน้อยกว่านักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล หลังปริมาณส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 และกำลังการผลิตโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯลดลง 0.4%
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 ของกลุ่มยูโรโซน ดัชนีผู้บริโภคสหราชอาณาจักรและกลุ่มยูโรโซนเดือนเม.ย.64 รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ การตัดสินใจนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 14 พ.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 65.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปบริเวณฝั่งตะวันออกสหรัฐฯ จะขาดแคลนจากการปิดของท่อโคโลเนียล เนื่องจากการเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์ ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนั้น การคลายมาตรการล็อคดาวน์ของยุโรปและสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันความต้องการใช้น้ำมันในอินเดีย และปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ หลัง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 7 พ.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 8 แท่น สู่ระดับ 448 แท่น นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนเม.ย. 63
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ