- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 10 May 2021 10:08
- Hits: 1195
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง ท่ามกลางความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2564
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 – 14 พ.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองและล็อกดาวน์ในหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ และยุโรป ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นที่มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะประเทศในอินเดีย หลังพบมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศมีแนวโน้มผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองและล็อกดาวน์เนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึง จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และยุโรปที่ปรับลดลง เช่น สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ในรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซี และคอนเนคติคัต ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. เป็นต้นไป ขณะที่ยุโรป อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมในเดือนหน้า ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในรายงานฉบับเดือน เม.ย. สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้เพิ่มขึ้นราว 0.23 ล้านบาร์เรลต่อวันจากรายงานเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. ปรับลดลงกว่า 8.0 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 485 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นปรับสูงขึ้น 1.1% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ราว 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันในระยะสั้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยการเพิ่มขึ้นของอินเดียซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันอันดับสามของโลก ที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 300,000 รายต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ส่งผลให้อินเดียมีการขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อคดาวน์ออกไปต่อเนื่องเพื่อพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา อาจจะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงไม่ปรับลดลง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตคงมติที่จะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. จนถึงเดือน ก.ค. รวมทั้งสิ้นราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกลุ่มผู้ผลิตจะทยอยปรับเพิ่มการผลิตในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ระดับ 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนเดือน ก.ค. จะปรับการผลิตเพิ่มขึ้น 0.441 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย จะปรับการผลิตขึ้นราว 0.25 และ 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นราว 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค.
จับตาการเจรจานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและกลุ่มประเทศหลัก เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย และสหรัฐฯ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการสรุปออกมาเป็นข้อตกลงที่จะมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณการผลิตในปัจจุบันที่ประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 64
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ,ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือน พ.ค. ,จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน มี.ค.
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 พ.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ และยุโรป เตรียมผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองและล็อกดาวน์ ในเร็วๆนี้ โดยสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ในรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซี และคอนเนคติคัต ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. เป็นต้นไป
ขณะที่ยุโรป อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมในเดือนหน้า นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 เม.ย. ปรับลดลงกว่า 8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ