- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 15 February 2021 11:20
- Hits: 2248
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการลดกำลังการผลิตของโอเปกพลัส หนุนราคาน้ำมันดิบในระดับสูงต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15 - 19 ก.พ. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังเกิดเหตุความไม่สงบในตะวันออกกลาง รวมถึงความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดจะสามารถดำเนินการใช้ได้ก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่สวัสดิการให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลง ทั้งนี้หากมาตรการสามารถบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าจะช่วยหนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะสามารถบังคับใช้ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังล่าสุดสภาคองเกรสได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น แทนที่จะต้องการมีการดำเนินการโดยการใช้เสียงกว่า 2 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มที่มาตรการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ก่อน 15 มี.ค.ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของสหรัฐฯจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้หากสามารถดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีขึ้น
กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร ยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงการปรับลดกำลังผลิตที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนกระทั่งถึงเดือน มี.ค. 64 ในขณะที่ซาอุฯ ปรับลดการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งล่าสุดอิรักเปิดเผยว่าในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อิรักได้ปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าโควต้า ส่งผลให้อิรักยังต้องปรับลดกำลังการผลิตอีก 0.576 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยก่อนหน้านี้ที่ผลิตเกินกว่าโควต้าที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมในการประชุมวันที่ 4 มี.ค. 64 เกี่ยวกับระดับการปรับลดกำลังผลิตในเดือน เม.ย. 64 เป็นต้นไป ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าซาอุฯ มีแนวโน้มที่จะไม่ต่อมาตราการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นสืบเนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมืองใหญ่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 5 ก.พ. 64 ปรับลดลงกว่า 6.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 469 ล้านบาร์เรล ซึ่งระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ซึ่งสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่ม 1.0 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่งโอกลาโฮมา ปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 63
ความต้องการใช้น้ำมันในระยะสั้นยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในรายงานฉบับเดือน ก.พ. 63 พบว่าสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในสำหรับไตรมาส 1 ของปี 2564 ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันคาดจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีและส่งผลให้ทั้งปีความต้องการใช้จะเติบโตที่ราว 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้าที่ปรับลดลงถึง 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียได้คลี่คลายลงและส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังก่อนหน้านี้เกิดเหตุประท้วงโดยหน่วยรักษาความปลอดภัยของลิเบีย (Petroleum Facilities Guard) ส่งผลให้มีการปิดท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Hariga ซึ่งมีกำลังการขนส่งที่ราว 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีการกลับมาเปิดดำเนินการแล้ว รวมทั้ง ท่าเรือส่งออกอื่นๆ อาทิเช่น Es Sider และ Ras Lanuf ซึ่งมีกำลังการขนส่งที่ราว 0.35 และ 0.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ที่มีการกลับมาดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนนี้ หลังมีการปิดไปในช่วงกลางเดือน ม.ค. 64
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 64 ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันกว่า 11 สัปดาห์ต่อเนื่องกันไปอยู่ที่ระดับ 392 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2563
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 4 ของยูโรโซน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและบริการของสหรัฐฯ และยูโรโซน เดือน ก.พ. 2564
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 - 12 ก.พ. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มออกมาได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 อย่างไรก็ตาม ราคายังเผชิญกับแรงกดดันจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 11 สัปดาห์ติดต่อกัน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ