- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Saturday, 30 May 2020 10:22
- Hits: 6219
สนพ. อัพเดทข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมัน เดือน พ.ค.-มิ.ย. ลดลงร้อยละ 11 ส่วนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การใช้รถยนต์ลดลง ส่งผลให้การใช้เอทานอลในส่วนผสมแก๊สโซฮอล์ลดลงวันละกว่า 1 ล้านลิตร
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ติดตามสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงวันที่ 25-31 พ.ค. 63 คาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมัน เดือน พ.ค. และมิ.ย. จะอยู่ที่ประมาณ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.83 จากปีที่แล้ว ส่วนเอทานอลภาคเชื้อเพลิงในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือน มี.ค. ประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน โดยมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์เพื่อเดินทางลดลง ส่งผลทำให้การใช้เอทานอลที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สถานการณ์ไบโอดีเซล (B100): ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 25-31 พ.ค. 63 อยู่ที่ 25.16 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.15 บาทต่อลิตร
- • ราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 18-22 พ.ค. 2563 อยู่ที่ 3.10 - 3.30 บาทต่อ กก. โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20.5 – 21.25 บาทต่อ กก. ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบรวม ณ สิ้นเดือน เม.ย. ประมาณ 251,369 ตัน สูงขึ้นจากเดือน มี.ค. ประมาณ 48.70%
- • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมัน เดือน พ.ค. และมิ.ย. จะอยู่ที่ประมาณ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ตามลำดับ ลดลงร้อยละ 10.83 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กรมการค้าภายใน คาดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคไตรมาสที่ 2 ปี 63 อยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตัน/เดือน ความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะลดลง จากมาตรการ lockdown
- • ณ สิ้นเดือน มี.ค. ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.32 ล้านลิตร/วัน โดยอยู่ในช่วงการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ
- • ราคาวัตถุดิบ CPO ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 16.46 บาทต่อกก. และเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้มาเลเซียประกาศเลื่อนกำหนดการการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 เป็นน้ำมันฐาน ออกไปเป็นเริ่มเดือน ก.ย. 62 โดยคาดว่าจะปรับมาใช้ทั่วประเทศภายใน 15 มิ.ย. 64
สถานการณ์ราคาเอทานอล
เอทานอล ราคาเอทานอลอ้างอิง ในเดือนพ.ค. 2563 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า
o โรงงานเอทานอลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 26 โรง มีกำลังการผลิตรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน ผลิตจริงในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 4.49 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนก.พ. 0.65 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการใช้ในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมี.ค.ประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน จากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์ในการเดินทางลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง และการใช้เอทานอลลดลงไปด้วย
o ปริมาณการใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 0.52 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.15 ล้านลิตรต่อวัน
สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 4 เดือน ของปี 2563 (มกราคม-เมษายน)
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 4 เดือนของปี 2563 (มกราคม – เมษายน) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 11.7 โดยกลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 8.1 กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 4.8 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์(Jet A1) ลดลงร้อยละ 33.7 น้ำมันเตาลดลงร้อยละ 26.3 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 14.3 LPG ลดลงร้อยละ 13.6 และNGV ลดลงร้อยละ 23.8 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 จึงทำให้ประเทศไทยต้องประกาศพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโดยมีมาตรการ Lock down ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก จึงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 29.47 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 8.1 โดยกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 28.69 ล้านลิตร/วันคิดเป็นร้อยละ 7.6 ขณะที่น้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.78 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 22.5 สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่า แก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้ลดลงมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.97 ล้านลิตร/วันคิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 24.7รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.16 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 15.5 ถัดมาเป็นแก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.03 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 5.9 ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 13.53 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 1.2 เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 91 โดยมีส่วนต่างเพียง 0.27 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 66.16 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 4.8 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาบี7 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 48.80 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 25.8 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.40 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.93 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการำหน่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561) โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วดังกล่าวอยู่ในช่วงการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่ใช้มาตรการราคากำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 13.80 ล้านลิตร/วันลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 33.7 เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมากอีกทั้งสายการบินประกาศหยุดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค.2563 รวมถึงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 เป็นต้นไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงส่งผลให้ความต้องการใช้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.65 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 13.6 โดยปริมาณการใช้ภาคขนส่งลดลงมากที่สุดมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.12ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 27.9 รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.28 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 16.6 ถัดมาเป็นภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลงอยู่ที่ 5.51ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง ร้อยละ 5.2 และภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ลดลงอยู่ที่ 1.73 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 4.5
การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.31 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 23.8 เนื่องจากนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนและรถโดยสารหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ทดแทนอีกทั้งภาครัฐมีนโยบายการปรับราคาขายปลีก NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปเพื่อสะท้อนต้นทุนจึงทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดถูกลงส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์หรือดีเซลหมุนเร็วแทน
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 979,427 บาร์เรล/วัน คิดเป็นร้อยละ 7.6 โดยมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 947,032 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 3.5 คิดเป็นมูลค่า 48,608 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเวลาการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและการ Lock down อย่างต่อเนื่องทำให้ต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ากลั่นลง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปเป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าดและLPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงอยู่ที่ 32,395 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 58.9 คิดเป็นมูลค่า 1,661 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าดและLPG โดยมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 186,432บาร์เรล/วัน คิดเป็นร้อยละ5.5 คิดเป็นมูลค่า 9,244 ล้านบาท/เดือน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ