- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 16 January 2018 10:21
- Hits: 2081
ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 15-19 ม.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ที่คาดจะคงกำลังการกลั่นในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว รวมถึง การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกวางแผนที่จะปรับปริมาณการผลิตในไตรมาส1/ 2561 ให้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบยังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาดำเนินการอีกครั้งของท่อขนส่งน้ำมันดิบในทะเลเหนือและลิเบีย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ คงอัตราการกลั่นในระดับสูง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค.61 ปรับลดลง 4.9 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 419.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง ปรับลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 46.5 ล้านบาร์เรล
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ หลังสภาพอากาศที่หนาวจัดในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้ผู้ผลิตลดการขุดเจาะน้ำมันดิบและหยุดดำเนินการผลิตลงชั่วคราว โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค.61 ปรับลดลง 290,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อาจจะปรับเพิ่มขึ้นถึงระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันใน 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
จับตาปริมาณการส่งออกของอิหร่านว่าจะปรับลดลงหรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ว่าจะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นคาดจะส่งผลให้หลายประเทศปรับลดการซื้อน้ำมันดิบของอิหร่านและทำให้ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศทวีคูณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นในกลุ่ม P5+1 ไม่เห็นด้วยกับการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม เนื่องจากอิหร่านมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ได้ทำไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจ
ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของทะเลเหนือและลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Forties ซึ่งมีกำลังการขนส่ง 450,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติแล้ว หลังต้องปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ท่อขนส่งน้ำมันดิบของลิเบีย ซึ่งทำการขนส่งน้ำมันดิบไปยังท่าเรือ Es Sider สามารถกลับมาดำเนินการอีกครั้งเช่นกัน หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ ส่งผลให้กำลังการผลิตปรับลดราว 70,000-100,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. ของปีที่ผ่านมา
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 4 ปี 60 ของจีน ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8-12 ม.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 290,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตของสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ 9.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ
สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. ปรับลดลง 4.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.9 ล้านบาร์เรล รวมไปถึงการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของทั้งกลุ่มผู้ผลิตโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มจะนำตลาดน้ำมันไปสู่สมดุลในอีกไม่ช้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ได้คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสแรกของปีนี้