- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 01 September 2014 14:42
- Hits: 2882
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 25 – 29 ส.ค. 2557 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 1 – 5 ก.ย. 2557
ฝ่ายกลยุทธ์ และแผนธุรกิจหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 94.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 100.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 112.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 116.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2557 มาอยู่ที่ระดับ +4.2% เป็นระดับที่สูงกว่าการประเมินก่อนหน้านี้ที่ +4.0%
· สถาบัน Conference Board รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ( Consumer Confidence index) ของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 2557 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.1 จุด แตะระดับสูงสุดที่ 92.4 จุด
· บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโก Pemex รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ก.ค. 2557 อยู่ที่ 2.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปริมาณต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี นอกจากนี้ยังได้ปรับลดประมาณการยอดผลิตน้ำมันดิบของทั้งปี 57 ลงมาอยู่ที่ 2.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า 30%
· Energy Aspects รายงานรัฐบาลอินเดียอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังเก็บสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserved) แห่งแรกบริเวณ Visakhapatnam (Vizag) สามารถเก็บสำรองน้ำมันดิบได้ปริมาณ 10 ล้านบาร์เรล จะเปิดดำเนินการเดือน ก.ย. ศกนี้ ทั้งนี้โครงการก่อสร้างคลังกักเก็บสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์จำนวนรวม 3 แห่ง ปริมาณรวม 40 ล้านบาร์เรล โดยคลังกักเก็บอีกสองแห่งคือบริเวณ Mangalore และ Padur จะแล้วเสร็จภายในปี 2558
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงานประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบเพื่อการส่งออก (OPEC) ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 2557 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.09 ล้านบาร์เรล์ต่อวัน มาอยู่ที่ 30.15 ล้านบาร์เรล์ต่อวัน
· กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานอัตราการกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นเดือน ก.ค. 2557 อยู่ที่ระดับ 5.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 3.2% ทั้งนี้โรงกลั่น Achinsk (140,000 บาร์เรล์ต่อวัน) ในไซบีเรียได้ปิดดำเนินการในเดือน มิ.ย. 2557 เนื่องจากเหตุการณ์เพลิงไหม้รุนแรง
· Wood Mackenzie คาดการณ์โรงกลั่นในยุโรปประสบปัญหาค่าการกลั่นต่ำ (Refining Margin) ที่สุดในรอบทศวรรษ โดยคาดว่าค่าการกลั่นของโรงกลั่นในยุโรปในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับปนะมาณ 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยค่าการกลั่นตกต่ำของยุโรปได้รับผลกระทบจากการที่ยุโรปมีการนำเข้า Heating Oil จากสหรัฐฯ รัสเซีย และตะวันออกกลาง กอรปกับอุปสงค์ในภูมิภาคตกต่ำจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่แม้ว่าจะดีขึ้นแต่ก็ไม่สามารถเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้โรงกลั่นในยุโรปได้ทยอยปิดตัว และถูกดัดแปลงไปใช้งานเป็นแหล่งคลังเก็บน้ำมันในอัตราที่รวดเร็วที่สุดตั้งแต่ทศวรรศที่ 1980 โดยรวมแล้วจำนวนโรงกลั่นกว่า 17 แห่ง ปิดดำเนินการ
· คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ของยูโรโซน เดือน ส.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อน 1.6 จุด มาอยู่ที่ -10.0 จุด นับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบครึ่งปี
· ประเทศไนจีเรีย และแองโลกานอกจากจะเป็นสมาชิก OPEC ปัจจุบันยังเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของแอฟริกาตะวันตกไปยังประเทศจีน โดยในเดือน ส.ค. 2557 ทั้งสองประเทศส่งออกน้ำมันไปยังจีนที่ระดับ 2.0 ล้านบาร์เรล์ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากแผนเดิม 400,000 บาร์เรล์ต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัว และวิกฤติยูเครนที่ยาวนานกว่า 4 เดือน ยังคงเพิ่มความร้อนแรงและขยายถึงอาณาเขตทะเลเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 57 กลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียยิงโจมตีเรือในทะเล และรัฐบาลยูเครนเสริมกำลังเพื่อป้องกันท่าเรือเมือง Mariupol ซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไป ทั้งนี้สหภาพยุโรป (European Union: EU) อาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ต่อรัสเซีย เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งมีแผนร่วมจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเช่นกัน ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบชนิดเบา (Light) โครงสร้างตลาดน้ำมันโลกเข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยสิ้นสุดระยะเวลาเกือบทศวรรษแห่งการพึ่งพาตนเองทางพลังงานของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบในลาตินอเมริกาอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้แก่ เวเนซุเอลา เม็กซิโก และอาร์เจนตินา ต่างมีแผนนำเข้าน้ำมันดิบชนิด Light เนื่องจากโครงการปรับปรุงโรงกลั่นภายในประเทศมีความล่าช้า ยังไม่สามารถปรับตัวรองรับอุปสงค์ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของตุรกี นาย Taner Yildiz กล่าวว่าเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ทางตอนเหนือของอิรักสามารถลำเลียงส่งออกน้ำมันดิบจากท่อขนส่งเส้นใหม่ไปยังท่าเรือ Ceyhan ในตุรกี โดยตั้งแต่ พ.ค. 57 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นจำนวน 12 เที่ยวเรือ ปริมาณรวม 8.8 ล้านบาร์เรล ในทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 101.1-104.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 93.2-96.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเนื่องจากกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออก Gasoline ในเดือน ก.ค. 2557 ลดลง 5.4 % จากระดับค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.9 ล้านบาร์เรล อินโดนีเซียมีแผนลดปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ช่วงระหว่างว 1 - 15 ก.ย. 2557 มาอยู่ที่ระดับ 600,000 บาร์เรลเนื่องจากโรงกลั่นอยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ในยุโรปสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ส.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.44 ล้านบาร์เรล หรือ 7.0% มาอยู่ที่ระดับ 6.61 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.03 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.89 ล้านบาร์เรล เป็นระดับสำรองสูงที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนจากญี่ปุ่นลดปริมาณส่งออก Gas Oil ในช่วงสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 23 ส.ค. 2557 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 46.3% อยู่ที่ระดับ 845,382 บาร์เรล อย่างไรก็ตามโรงกลั่นของอินเดียออกประมูลขาย Gasoil 0.05%S ปริมาณ 447,000 บาร์เรล โดยอินเดียเป็นผู้ส่งออกหลักเนื่องจากปริมาณน้ำหลากจากฤดูมรสุมส่งผลให้ความต้องการใช้ Gasoil ภายในประเทศลดลงต่ำ และบริษัท ADNOC ของสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ออกประมูลขาย Gas oil 0.05%S ปริมาณ 300,000 บาร์เรล บริษัทที่ปรึกษา PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรอง Gasoil เชิงพาณิชย์ของยุโรปสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ส.ค. 2557 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.25 ล้านบาร์เรล หรือ 1.2% มาอยู่ที่ 20.45 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.06 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.06 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน