WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL10ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2560

               

      ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

                                               

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 11 – 15 ธ.ค. 60)

        ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบจากสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐฯ และรัสเซีย มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความเป็นไปได้ที่ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone กำลังการขนส่งราว 590,0000 บาร์เรลต่อวัน อาจกลับมาดำเนินอีกครั้งเร็วๆ นี้ โดยการกลับมาของท่อขนส่งน้ำมันดิบอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบโลกไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

           ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับเหนือ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยการปรับเพิ่มขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ซึ่งคาดการณ์ในเดือนธ.ค. 60 ปริมาณการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นราว 80,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา สู่ระดับ 6.174 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในสัปดาห์ล่าสุด ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นราว 25,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน

           จับตาการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone กำลังการขนส่งราว 590,0000 บาร์เรลต่อวัน ว่าจะกลับมาดำเนินการตามปกติเร็วๆ นี้หรือไม่ หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว เนื่องจากตรวจพบการรั่วไหลของน้ำมันราว 5,000 บาร์เรล ในพื้นที่ South Dakota ซึ่งการกลับมาของท่อขนส่งน้ำมันดิบดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากแคนาดาปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และอาจทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้

           ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่ารัสเซียยังคงยืนยันที่จะเข้าร่วมการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หลังคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือนม.ค. 61 จากแหล่งผลิต Sakhalin-1 ปรับเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน สู่ระดับ 250,000 บาร์เรลต่อวัน  และมีแนวโน้มว่ากำลังการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 260,000 บาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 1 ปี 2561 จากระดับ 190,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2560

           ความร่วมมือของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย Saudi Aramco ประกาศปรับเพิ่มราคา (Official Selling Price: OSP) ต่อเนื่อง โดยล่าสุด Saudi Aramco ประกาศเพิ่มราคา OSP ในเดือนม.ค. 61 สำหรับน้ำมันดิบทุกชนิด ที่ขายให้ลูกค้าเอเชีย นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังถูกจำกัด เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย เช่น ลิเบีย และไนจีเรีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อิรักมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้น หลังจากเริ่มเจรจากับอิหร่านเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันดิบจากพื้นที่ Kirkuk ราว 30,000 บาร์เรลต่อวัน

           ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ และดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 – 8 ธ.ค. 60)

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังนักลงทุนกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการเทขายสัญญาน้ำมันดิบเพื่อทำกำไร นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 ธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 6.8 ล้านบาร์เรล จากความต้องการใช้ในสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำมันดิบในจีนปรับตัวสูงขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือนพ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 9.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา สู่ระดับ 7.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดอันดับสองเป็นประวัติการณ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!