WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เสวนาถามตอบปัญหาพลังงานชาติ 'พุทธอิสระ'คุมเกม 'ปิยสวัสดิ์'นำทีม ปตท. แจง 'รสนา' ไม่เข้าร่วม

 

 

 



     นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงในงาน "เสวนาถามตอบปัญหาพลังงานชาติ" โดยมีพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำ กปปส.เข้าร่วมด้วย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม  ทั้งนี้การจัดงานเสวนาดังกล่าว เพื่อเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นถึงการปฏิรูปพลังงาน  ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต

 

      บรรยากาศที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี นายวีระ สมความคิด ขึ้นเวทีเข้าร่วมเสวนาถาม-ตอบ เรื่องการปฏิรูปพลังงานเพื่อความปรองดองของชาติ โดยมีพุทธอิสระ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาบนเวที ในงานมีการตั้งคำถามถึงการคืนท่อส่งก๊าซ 

 

     ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรีนักวิชาการด้านพลังงาน นายวีระ สมความคิด นางบุญยืน ศิริธรรม นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศ์ษา ขณะที่างรสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย จะไม่เข้าร่วมการสัมนาครั้งนี้ เนื่องจากติดภารกิจเป็นวิทยากรที่จังหวัดในภาคใต้ 

 

    ทั้งนี้ ในงานยังมีตัวแทนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยงานเสวนาเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00-15.40 น. รวมเวลา 6ชั่วโมง 40นาที โดยบนเวทีเสวนาไม่มีการพักเบรกเพื่อรับประทานอาหารใดๆ

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญตัวแทนจาก2ฝ่ายที่มีความเห็นต่างกัน ขึ้นเสวนาในเวทีเดียวกัน โดยหลวงปู่พุทธอิสระได้กำหนดกฎเกณฑ์การเสวนา คือ จะให้ฝ่ายภาคประชาชนเป็นผู้คำถาม และให้ฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.เป็นผู้ตอบ โดยกำหนดเวลาการเสวนาฝ่ายละเท่ากันๆ และในช่วงท้ายจะเปิดให้ประชาชนที่เข้าร่วมได้แสดงความเห็น

 

โดยบรรยากาศการเสวนาตลอดทั้งวันนั้นพบว่า มีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีความเห็นเอนเอียงไปทางฝั่งเครือข่ายภาคประชาชน มีเพียงจำนวนหนึ่งที่เอนเอียงทางฝั่งกระทรวงพลังงาน โดยสังเกตได้จากพฤติกรรมการปรบมือเมื่อฝ่ายที่ตนเองสนับสนุนแสดงความเห็น หรือวิจารณ์อีกฝ่าย

 

     ดังนั้น บรรยากาศการรักษาความปลอดภัยในการเสวนาครั้งนี้จึงค่อนข้างเข้มงวด โดยผู้ร่วมสัมมนาจะต้องติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์ว่าเข้าร่วมสัมมนาในฐานะอะไร มีการตรวจกระเป๋า ป้องกันการพกพาอาวุธ และมีการระดมกำลังทั้งทหารและตำรวจประมาณ 100 นาย

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นแรกที่มีการหารือในเวทีเสวนา คือ เรื่องคืนท่อก๊าซของ ปตท.แก่รัฐ โดยภาคประชาชนย้ำเรื่องข้อสังเกตของ สำนักงานตรวจเงินเงินแผ่นดินที่ ปตท.คืนไม่ครบทั้งบนกบกและในทะเลเพราะต้องคืนประมาณ3.6 หมื่นล้านบาทแต่ ปตท.คืนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2551 วงเงินเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท 

 

      โดยประเด็นนี้ ทาง ปตท.ได้พยายามชี้แจงว่าคำสั่งศาลปกครองถือเป็นที่สุดโดยศาลให้คืนสมบัติเฉพาะกรณีเงินลงทุนของ ปตท.ที่ใช้อำนาจมหาชนรอนสิทธิ์เท่านั้น และที่ผ่านมา ศาลฯได้ส่งบัณทึกไปยัง สตง.และช่วงที่ผ่านมา สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.ก็ไม่เคยท้วงติงใดใด ในรายงานประจำปีการตรวจสอบบัญชี ปตท. ทั้งนี้หลังการชี้แจงเครือข่ายภาคประชาชนยังโต้แย้ง หลวงปู่พุทธอิสระจึงสรุปว่าหากโต้แย้งไปมาคงไม่จบ ดังนั้น หลวงปู่จะพิจารณาเรื่องนี้และนำขึ้นสู่การฟ้องร้องศาลอีกครั้ง

 

      ต่อมามีการสอบถามเรื่อง ราคาแอลพีจีโดยเฉพาะภาคปิโตรเคมีซึ่งเครือข่ายโดยนายปานเทพ ใช้ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภามาสอบถาม โดยอ้างว่าปิโตรเคมีซื้อในอัตราต่ำกว่าการจำหน่ายแก่ประชาชน ทาง ปตท.ได้ชี้แจงว่า ให้มองย้อนไปในอดีตตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่5 ซึ่งเป็นช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาอิสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมมายตาพุด จ.ระยอง คือ ต้องส่งเสริม

 

     อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในประเทศที่ใช้ประโยชน์จากเม็ดพลาสติกมหาศาล โดยราคาแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซฯใช้สูตรอิงตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยราคาเฉลี่ยในปี2556 หน้าโรงแยกก๊าซฯที่ 592 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 19.24 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เมื่อรวมเงินกองทุนน้ำมันฯและภาษีมูลค่าเพิ่มจะเท่ากับ 21.60 บาทต่อกก. โดยใช้ก๊าซ 67% จากโรงแยกก๊าซฯ ขณะที่กาีใช้แอลพีจีจีจากโรงกลั่นน้ำมันคิดเป็น 7% ราคามากกว่าคือ 30.22 บาท/กก.(930 เหรียญต่อตัน) ทำให้แอลพีจีสำหรับปิโตรเคมีมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 22.85 บาทต่อกก.

 

     นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงประเด็นราคาน้ำมัน เปรียบเทียบระหว่างไทยและต่างประเทศ ประเด็นการส่งออกน้ำมันของไทยที่เครือข่ายภาคประชาชนตั้งคำถามว่าราคาถูก แต่ใช้ในประเทศแพง 

 

     ประเด็นนี้ทางฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.ยืนยันว่าใกล้เคียงกัน แต่เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีการเก็บภาษีหลายส่วน รวมทั้งมีกองทุนน้ำมันเข้ามาดูแลด้วย

 

      นอกจากนี้ ในเสวนานายวีระยังตั้งคำถามต่อฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.ว่าตัวแทนคนใดถือหุ้นบริษัทปตท.บ้าง ซึ่งประเด็นนี้นายปิยสวัสดิ์กล่าวยอมรับว่ามีหุ้นอยู่ในปตท.เป็นจำนวน4,400 หุ้น ซึ่งการถือหุ้นดังกล่าวตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

 

     ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ฝ่ายผู้ฟังสัมมนาฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนเริ่มส่งเสียงโห่ร้อง จนหลวงปู่พุทธอิสระต้องห้ามปราม จากนั้นนายไพรินทร์ได้ชี้แจงว่า หากต้องการทราบข้อมูลควรเข้าไปตรวจสอบในเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ หรือรายงานประจำปีของปตท.เพราะเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ส่วนข้อมูลการถือหุ้นของตนเองจะส่งให้หลวงปู่พุทธอิสระอีกครั้ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางหลวงปู่พุทธอิสระมีความเห็นว่าหากจะคาดคั้นคำตอบคงไม่จบ อยากให้ข้อมูลการถือหุ้นมีการส่งเอกสารตามทีหลัง

 

      ทั้งนี้ ช่วงท้ายการเสวนา หลวงปู่พุทธอิสระได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเสนอแนะเรื่องที่ต้องการให้ปฏิรูปพลังงาน ทางเครือข่ายภาคประชาชนจึงเสนอหลายประเด็น อาทิ 

 

      ขอให้ปรับโครงสร้างการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันเห็นว่ามีความบิดเบือน ขอให้แอลพีจีของภาคปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับภาคครัวเรือน ขนส่ง และครัวเรือน พร้อมจัดสรรแอลพีจีให้ภาคครัวเรือนและขนส่งได้ใช้เป็นกลุ่มแรก และไม่ให้ข้าราชการเข้าเป็นกรรมการบริษัทพลังงานเพราะอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน 

 

     ขณะที่ข้อเสนอฝั่งกระทรวงพลังงานและปตท. คือ อยากให้มีการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติมีความเหมาะสม อยากให้มีการประหยัดพลังงาน

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเสวนาพบว่า ตลอดทั้งวันผู้เข้าร่วมสัมมนามักแสดงอาการไม่พอใจ โห่ร้อง บางรายลุกขึ้นตะโกน ตั้งคำถามระหว่างที่การเสวนาดำเนินอยู่ เพื่อกระตุ้นให้ตัวแทนฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.เกิดความไม่พอใจ ทำให้หลวงปู่พุทธอิสระต้องห้ามปราม ตักเตือน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายปิยสวัสดิ์ส่งสัญญาณระหว่างอยู่บนเวทีขอให้หลวงปู่ฯช่วยตักเตือนอีกครั้ง ซึ่งหลวงปู่ฯรับปาก แต่นายวีระซึ่งนั่งอีกฝั่งได้ยินจึงมีการตอบโต้ไปมากับนายปิยสวัสดิ์ ทำให้หลวงปู่ต้องยกมือห้ามทั้ง2ฝ่ายให้สงบ

 

     ภายหลังจบการเสวนาในเวลา15.40น. หลวงปู่พุทธอิสระกล่าวว่า จะสรุปข้อเสนอทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าเป็นอย่างช้า โดยเชื่อว่าการเสวนาจะเป็นประโยชน์เพราะประชาชนหลายคนเข้าใจมากขึ้น 

 

     ส่วนประเด็นเรื่องท่อก๊าซที่ยังขัดแย้ง จะให้ทุกฝ่ายส่งเอกสารมาพิจารณาว่าบกพร่องอย่างไร ให้ฝ่ายกฎหมาย นิติกรเข้ามาดู และหลังจากนี้อาจจัดเวทีเสวนาพลังงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหารือเรื่องพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน เนื่องจากในเสวนายังไม่มีการคุยครั้งนี้ ส่วนเครือข่ายประชาชนบางท่านที่ไม่มาหากนำไปพูดข้างนอกอีกจะไม่เหมาะสม

เวทีปฏิรูปพลังงานยำเละ ปตท.ต้นเหตุบิดเบือนกลไกตลาด-หลวงปู่ฯนั่งเป็นประธาน

   เวทีเสวนา"การปฎิรูปพลังงานเพื่อความปรองดองของชาติ"ที่สโมสรทหารบกวันนี้ ผู้เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชนผู้ประกอบการด้านเชื้อเพลิง เข้าร่วมการเสวนา และมีหลวงปู่พุทธะอิสระเป็นผู้ดำเนินรายการ

    ช่วงแรกของการเสวนา ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ที่มาจากเครือข่ายภาคประชาชนต่างแสดงความคิดเห็นพุ่งตรงไปที่การโจมตี บมจ.ปตท.(PTT) โดยเฉพาะประเด็นท่อก๊าซ ทั้งการใช้ประโยชน์ การถือครองสิทธิในท่อก๊าซส่วนที่นอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลปกครอง เช่น ท่อก๊าซในทะเล การกำหนดราคาขายน้ำมันและก๊าซในประเทศ การขายก๊าซให้ภาคอุตสาหกรรมในราคาต่ำ รวมถึงการถือครองหุ้น ปตท.ของคณะกรรมการและผู้บริหาร

    ทั้งนี้ ตัวแทนของฝ่าย ปตท.นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะกรรมการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยทีมผู้บริหารหลายส่วนผลัดกันตอบคำถาม โดยบรรยากาศในการซักถามค่อนข้างตึงเครียด ขณะที่นายวีระ สมความคิด ได้เข้าร่วมฟังการเสวนา โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวมาพร้อมกับนางบุญยืน ศิริธรรมด้วยสีหน้าเรียบเฉย

     การเสวนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การถามตอบปัญหา ซึ่งจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อคัดกรองคำถามล่วงหน้า ช่วงที่ 2 เป็นการถามตอบในห้องประชุม โดยไม่ต้องส่งเอกสารและช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาชี้นำทิศทางพลังงานของชาติ โดยแบ่งเวทีเป็น 2 ฝ่าย ฝั่งหนึงเป็นภาคประชาชน นักวิชาการและเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน อีกฝั่งหนึ่งเป็นตัวแทนรัฐวิสาหกิจจาก ปตท. กระทรวงพลังงาน และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

     ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนนำโดยนายวีระ สอบถามถึงข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกรณีที่ ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซให้รัฐไม่ครบ จากที่ต้องส่งคืนคิดเป็นมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ ปตท.กลับคืนคิดเป็นมูลค่าเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท โดยอ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.51 ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งหนังสือระบุว่า ปตท.ยังส่งมอบทรัพย์สินไม่ครบ

      นายไพรินทร์ ในฐานะตัวแทน ปตท.อธิบายรายละเอียดตั้งแต่ต้น และยืนยันว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้รัฐอย่างครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองแล้ว แต่วงเสานายังถกเถียงถึงการคืนท่อก๊าซในทะเล เพราะเห็นว่าเป็นทรัพย์ของรัฐ ขณะที่ ปตท.ยืนยันว่าไม่เข้าข่ายทรัพย์ที่จะต้องคืนตามคำสั่งศาลปกครอง เพราะศาลให้คืนสมบัติเฉพาะกรณีที่ใช้อำนาจมหาชนรอนสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น และที่ผ่านมาศาลปกครองได้ส่งบันทึกไปยัง สตง.แล้ว ซึ่ง สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.ก็ไม่เคยท้วงติงใดๆ ทำให้ใช้เวลาในการอภิปรายเรื่องดังกล่าวกว่า 1 ชั่วโมงและไม่มีข้อสรุป

     จากนั้นบรรยากาศในการซักถามดุเดือดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายปานเทพ ถามว่า การใช้ก๊าซแอลพีจีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปริมาณมากกว่าการใช้ของประชาชนทั้งประเทศ แต่กลับจ่ายในราคาต่ำ โดยเฉพาะบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอิสระเป็นตัวแทนตอบคำถามว่า หากพิจารณารวมการใช้ก๊าซในภาคขนส่ง ซึ่งจะต้องรวมอยู่ในภาคประชาชนแล้วอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม นายปานเทพกลับนำเอกสารข้อมูลมาแสดงและถามคำถามเดิมซ้ำจนนำไปสู่การโต้เถียงกัน

     ประเด็นคำถามจากตัวแทนฝ่ายประชาชน นักวิชาการบนเวทีนั้นยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นการตรวจสอบการทำงานของ ปตท. ข้อกฎหมายต่างๆ และการจ่ายเงินชดเชยและการจ่ายภาษีของภาคปิโตรเคมี ซึ่งตัวแทน ปตท.แจงว่า ข้อเสนอต่างๆ สามารถดำเนินการไปได้หากมีการกำหนดเป็นนโยบายภาครัฐ ซึ่ง ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจก็ต้องทำตามแต่ทางภาครัฐเองจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกๆ ด้าน

    การดำเนินรายการในช่วงแรกที่ให้ผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อตั้งคำถามต่อผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เวลาไปจนถึงเวลา 13.30 น. ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั่วไปสามารถถามคำถามและเสนอแนะได้ โดยประเด็นคำถามยังคงเป็นเรื่องราคาน้ำมัน การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและถามถึงความเป็นเจ้าของท่อก๊าซและเน้นย้ำว่าปิโตรเคมี หรือก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรของประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน

    จากนั้นเวทีเสาวนาเปิดโอกาสให้มีการข้อเสนอถึงทิศทางพลังงานของประเทศไทย โดยนายวีระ เสนอว่า ขอให้สะสางข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงพลังงานกับกระทรวงการคลังที่มีมาก่อนหน้า แล้วค่อยเดินหน้าปฎิรูปและขอให้ส่งคืนท่อส่งก๊าซให้เป็นของรัฐทั้งหมด และให้ ปตท.ชดเชยค่าเสียหายที่ใช้ท่อส่งก๊าซในทะเล ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐมานานหลายปี ขณะที่พันโทหญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เสนอว่ารัฐควรจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน และยกเลิกนโยบายอุดหนุนก๊าซแอลพีจีให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ต้องจัดสรรให้ประชาชนอย่างเพียงพอก่อน และจะต้องกำหนดจริยธรรมของผู้บริหารอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเคมีให้เหมาะสม และขอให้ราคาก๊าซเป็นไปตามจริงไม่ต้องขึ้นอยู่กับตลาดโลก

    ด้านมล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ เสนอให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้โครงสร้างราคาพลังงานเหมือนกับการส่งออกต่างประเทศ และให้มีการซื้อขายในราคาเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น โดยการเก็บเงินเข้ากองทุนมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหากองทุนน้ำมันเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง เพราะประชาชนไม่ต้องรับภาระในส่วนดังกล่าว นอกจากนี้ขอให้ ปตท.เปิดเผยสัญญาสัมปทานทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบในฐานะเจ้าของที่แท้จริง และควรจะยกเลิกระบบสัมปทาน และหันมาใช้ระบบการแบ่งผลประโยชน์หรือการจ้างผลิตแทน

    หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า หลังจากการเสวนาในวันนี้ได้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันนำข้อมูลเอกสารมายืนยัน โดยเฉพาะกรณีท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งภาคประชาชนยังมีข้อข้องใจว่า ปตท.ทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดได้ครบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการคืนท่อส่งก๊าซในทะเล แต่ทางฝ่าย ปตท.เองก็ยืนยันว่าได้ทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงให้นำข้อมูลเอกสาร เพื่อรวบรวมแล้วเสนอ คสช.ภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าต่อไป

   สำหรับ การเสวนาในวันนี้เบื้องต้นเชื่อว่าทุกฝ่ายจะได้ข้อยุติในการถกเถียงเรื่องพลังงานฟอสซิลแล้ว โดยเตรียมจัดเสวนาเรื่องพลังงานทางเลือกต่อไปในอีก 1-2 เดือน เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงด้านพลังงานทดแทน และต้องการให้ได้ข้อยุติต่อไป

   แต่นายวีระ กล่าวภายหลังงานสัมมนาว่า ปตท.ยังไม่สามารถตอบคำถามและข้อสงสัยได้กระจ่างในหลายเรื่อง และตอบไม่ตรงคำถาม โดยเฉพาะเรื่องท่อก๊าซ จึงเชื่อว่า ปตท.มีนัยแอบแฝงที่ไม่โปร่งใส และหาก ปตท. ยืนยันว่าการดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ก็ขอให้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงต่อสาธารณะชน และขอให้ภาครัฐเข้าไปถือครองหุ้นทั้ง 100% เพราะไม่เห็นความจำเป็นต้องให้เอกชนต้องเข้าถือหุ้น

   อีกทั้งยืนยันว่าจะเดินหน้าเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปพลังงานต่อไป อาจจะเป็นรูปแบบการจัดเวทีแสดงความคิดเห็น และยืนยันว่าจะไม่มีการเดินคัดค้านอีก ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวที่ คสช.ระบุไว้ รวมทั้งจะส่งตัวแทนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่จะได้รับการคัดเลือกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.

                        อินโฟเควสท์

วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.  ข่าวสดออนไลน์

พลังงาน การเมือง เรื่องของท่อก๊าซ น้ำมัน ผลประโยชน์ ใคร

    ท่าทีที่คสช.เปิดทางให้ นายวีระ สมความคิด และพวก ออกจากที่กักขังเพื่อเดินทางเข้าร่วมเสวนาเรื่องปฏิรูปพลังงานที่กระทรวงพลังงานจัดขึ้น ณ สโมสรทหารบก

    ถือได้ว่าเป็นท่าทีอัน ผ่อนปรน

    อาจเป็นเพราะ 1 การเสวนาครั้งนี้มีความหมายมีความสำคัญ ขณะเดียวกัน 1 นายวีระ สมความคิดและพวกก็ยอมรับเงื่อนไขของคสช.

    นั่นก็คือ จะไม่ออกเดินเคลื่อนไหวบนท้องถนนอีก

    รายงานข่าวบางกระแสระบุว่า ในจำนวนบุคคลที่ถูกคุมตัว 8 คนจากถนนพหลโยธินบางคนไม่เต็มใจที่จะยอมรับเงื่อนไขของคสช. แต่ นายวีระ สมความคิด ได้ห้ามปราม

    ทุกอย่างจึงลงเอยด้วยความเรียบร้อย

    นี่ย่อมเป็นท่าทีประนีประนอมเหมือนกับมีข่าวว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้เดินทางไปพบพระพุทธอิสระที่วัดอ้อน้อย เพื่อให้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์และความขัดแย้ง

   เป็นเรื่องน่ายินดี หากมองจากจุดของคสช.

    ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ ขาหุ้นพลังงาน ที่ภาคใต้ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ ปฏิรูปพลังงาน ที่กทม.ดำเนินไปอย่างสอดรับกัน

    เหตุผล 1 เพราะว่าคนเหล่านี้เคยร่วมอยู่กับ กปปส.

    นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แห่งโรงพยาบาลจะนะก็นำกลุ่ม ชมรมแพทย์ชนบท ขับเคลื่อนร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

    น.ส.รสนา โตสิตระกูล ก็เคยเป่านกหวีดกับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

    เหตุผล 1 แม้คสช.จะวางตัวเป็นกลางและดำเนินบทบาท ตาอยู่ ท่ามกลางความขัดแย้ง ระหว่างตาอินกับตานา แต่เมื่อผลก็คือการโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถือว่าเป้าหมายขั้นสุดท้ายเป็นอย่างเดียวกัน

    ท่าทีที่เป็นมิตร ท่าทีที่ผ่อนปรน จึงไม่เหนือความคาดหมาย

     กระนั้น ภายในจุดผ่อนปรน ภายในจุดร่วมระหว่างคสช.กับกลุ่มของ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ก็มีความละเอียดอ่อนเกิดขึ้นและดำรงอยู่

     เกิดขึ้นเพราะคสช.เอนไปทาง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

     ขณะที่กล่าวสำหรับกลุ่มของ นายวีระ สมความคิด กลุ่มของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล รวมถึงกลุ่มของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เห็นต่างไปจาก นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

    ความเห็นต่างนี่แหละที่จะต้องร่วมเสวนากันอย่างเคร่งเครียด จริงจัง

    ในสถานการณ์อันเป็นความขัดแย้งเรื่องพลังงานเช่นนี้บทบาทของคสช. บทบาทของกระทรวงพลังงานจึงมีความสำคัญเป็นอย่างสูงในการสมานสามัคคี

    หา จุดร่วม หาจุดลงตัวที่ เหมาะสม

   ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะใช้วาทกรรมในการดำเนินการและในการเคลื่อนไหวออกมาอย่างไร

    ในที่สุดแล้วเรื่องของ พลังงาน ก็มิได้เป็นเรื่องของพลังงานแท้ๆ หากแต่มีกลิ่นอายของการเมือง มีกลิ่นอายของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมิอาจปฏิเสธได้

    คำถามก็คือ เป็นการเมืองของใคร เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มใด…

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!