- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 16 November 2017 19:33
- Hits: 8065
ราคาน้ำมันดิบปรับลงต่อหลัง EIA ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 10 พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 1.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสองสัปดาห์ติดต่อกัน เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 9.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526
- ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันต่อเนื่องหลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันลงราว 100,000 บาร์เรลต่อวันลงไปอยู่ที่ 1.5 และ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ หลังสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพื่อทำความร้อนเบาบางลง
+ IEA รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) ในเดือน ต.ค. ปรับลดลง 830,000 บาร์เรลต่อวันเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า โดยความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC รัสเซียและประเทศนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) อีก 9 ประเทศในเดือน ต.ค. มีมากถึงร้อยละ 96 ของปริมาณการปรับลดทั้งหมดที่ 1.8 ล้านบาร์เรล
+/- ตลาดยังคงจับตามองผลการประชุมระหว่าง OPEC และ Non-OPEC ในวันที่ 30 พ.ย. ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เกี่ยวกับการหาข้อสรุปในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตให้ถึงสิ้นปี 2561
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ตามราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ หลัง IEA ปรับลดคาดการณ์ความต้อการใช้นำมันเบนซินในปีหน้า อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ดีในเอเชียใต้และตะวันออกกลาง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ในเอเชียเบาบางต่อเนื่องและอุปทานยังคงล้นตลาด ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดีเซลต้องส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังภูมิภาคอื่น
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังยังไม่มีประเทศใดคัดค้านข้อตกลงนี้ นอกจากนี้เลขาธิการกลุ่มโอเปก เผยว่า โอเปกกำลังหาทางบรรลุข้อตกลงในการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตให้ได้ก่อนการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว
ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังรัฐบาลซาอุดิอาระเบียกล่าวหาอิหร่านว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การโจมตีด้วยขีปนาวุธไปยังสนามบินนานาชาติคิงคาลิดทางเหนือของกรุงริยาด ซึ่งกระทำโดยกลุ่มกบฎฮูธีในเยเมน รวมถึงเหตุการณ์ในเลบานอนที่มีการเพิกเฉยในการกวาดล้างกลุ่มฮิสบอลลาห์ (Hezbollah) ซึ่งหนุนโดยอิหร่าน ประกอบกับ นายกรัฐมนตรีเลบานอนของนายซาอัด ฮาริรี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบียประกาศลาออกจากตำแหน่ง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 67,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน