- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 15 November 2017 19:33
- Hits: 4707
ราคาน้ำมันดิบปรับลงจากแรงขายทำกำไรและคาดการณ์ปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม
-ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลังตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับภาพรวมอุปสงค์ในอนาคตที่รายงานโดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) มีแนวโน้มปรับลดลง นอกจากนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกได้เผชิญแรงขายหลังตัวเลขเศรษฐกิจของจีนรายงานออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดไว้
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยผลการคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในเดือน ธ.ค. มีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 80,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 6.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมของสหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ที่ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าช่วงกลางปี 59 ราวร้อยละ 14
- IEA ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันลงราว 100,000 บาร์เรลต่อวันในปี 60 และ 61 ลงไปอยู่ที่ 1.5 และ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันตามลำดับ โดยเหตุผลหลักมาจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงปรับลดลง ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบพบกับสภาวะอุปทานล้นตลาดได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 61
- ตลาดน้ำมันดิบถูกขายทำกำไรอย่างต่อเนื่องหลังกองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้เข้าสะสมสัญญาซื้อล่วงหน้า (Long position) ทั้งในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures) และตลาดออปชั่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 7 พ.ย. 60 โดยข้อมูลเปิดเผยว่า เฮดจ์ฟันด์ได้สะสมสัญญาคิดเป็นปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมกว่า 1,085 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากสภาวะการซื้อขายที่ซบเซาหลังตลาดปรับเปลี่ยนท่าทีเพื่อสังเกตการณ์ทิศทางอุปสงค์ในประเทศอินโดนีเซียก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นสวนทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าอุปทานยังคงมีมากหลังโรงกลั่นในภูมิภาคคงกำลังการผลิตในระดับสูงเนื่องจากส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันดิบดูไบอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ อุปทานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีกหากโควต้าการส่งออกของประเทศจีนในช่วงปลายปีปรับเพิ่มขึ้น
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในราคา 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังยังไม่มีประเทศใดคัดค้านข้อตกลงนี้ นอกจากนี้เลขาธิการกลุ่มโอเปก เผยว่า โอเปกกำลังหาทางบรรลุข้อตกลงในการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตให้ได้ก่อนการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว
ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังรัฐบาลซาอุดิอาระเบียกล่าวหาอิหร่านว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การโจมตีด้วยขีปนาวุธไปยังสนามบินนานาชาติคิงคาลิดทางเหนือของกรุงริยาด ซึ่งกระทำโดยกลุ่มกบฎฮูธีในเยเมน รวมถึงเหตุการณ์ในเลบานอนที่มีการเพิกเฉยในการกวาดล้างกลุ่มฮิสบอลลาห์ (Hezbollah) ซึ่งหนุนโดยอิหร่าน ประกอบกับ นายกรัฐมนตรีเลบานอนของนายซาอัด ฮาริรี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบียประกาศลาออกจากตำแหน่ง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 67,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน