- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 11 November 2017 11:41
- Hits: 3401
ส.อ.ท. ผนึก กระทรวงพลังงาน กระตุ้นผู้ประกอบการ SME สะสมคะแนน ผ่าน Energy Point
ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ ตามสโลแกน ‘4 แลก 4 Energy Point’ เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ผู้ประกอบการหรือโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เริ่มดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานง่ายๆได้ด้วยตนเอง
โดยจะได้รับ Energy Point ก็ต่อเมื่อดำเนินการดัง 4 ข้อต่อไปนี้
1.การประกาศนโยบายด้านพลังงาน
2.การแต่งตั้งผู้ประสานงาน (Energy Man) ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานในองค์กร
3.วางแผนการอนุรักษ์พลังงานเบื้องต้นภายในองค์กร
4.ทบทวนแผนการอนุรักษ์พลังงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพร้อมนำไปปฏิบัติ
เมื่อมีคะแนนแล้วสามารถนำคะแนน Energy Point ไปแลกรับสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ 4 ข้อ ดังนี้
1.การอบรมให้ความรู้
2.การศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน
3.การให้คำแนะนำแนวทางการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานโดยผู้เชี่ยวชาญ
4.เงินทุนสนับสนุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน
อีกทั้ง วันนี้ยังมีพิธีมอบรางวัล The Best Energy Man 18 กลุ่มจังหวัดและกรุงเทพฯ โดย ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู (ประธานเปิดงาน) ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานด้วย
ดร.วีรพัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาหลักส่วนใหญ่คือ "การเริ่มต้น" ที่จะหันมาให้ความสำคัญและดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ทำให้ผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่ปรับตัวหันมาดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน อาจมีต้นทุนด้านพลังงานสูงกว่าคู่แข่งทางธุรกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจลดลง ด้วยเหตุนี้ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงสนับสนุนให้โครงการนี้เกิดขึ้น
ด้านนายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เนื่องจากการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในประเทศยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคขนส่งและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายสูงถึงร้อยละ 36.88 (ข้อมูลปี 2559) ซึ่งจากการสำรวจสภาพปัญหา พบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีสภาพความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน น้อยการผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ขาดความรู้ เงินทุน การดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงยังไม่ให้ความสำคัญและจริงจังมากนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
ดร.วีรพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการที่กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (เริ่มโครงการเมื่อ 1 ต.ค. 60 ไปจนระยะเวลาสิ้นโครงการ 1 ปีครึ่ง) และถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมในเฟสแรกนี้ถึง 599 แห่ง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถประหยัดพลังงานได้รวมกว่า 5.8 ktoe ต่อปี หรือเทียบเป็นเงินกว่า 125 ล้านบาทต่อปี สนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานไปกว่า 25 ล้านบาท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างดี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พลังงานและลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.