- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 06 November 2017 18:30
- Hits: 4275
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 6 - 10 พ.ย. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 – 10 พ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัวอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกปรับลดการผลิตน้ำมันดิบลงต่อเนื่องเพื่อให้อุปทานน้ำมันส่วนเกินกลับสู่สมดุลที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าทั้งสองกลุ่มจะมีการขยายระยะเวลาการลดการผลิตจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ หลังคาดการณ์ความต้องการใช้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบคาดจะลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีแนวโน้มที่จะกดดันราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาดูท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตที่ราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปถึงเมื่อไร ในการประชุมโอเปกวันที่ 30 พ.ย.นี้ โดยซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD oil stocks) ให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของรัสเซียที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตขยายระยะเวลาของข้อตกลงออกไปเพื่อทำการปรับลดอุปทานน้ำมันส่วนเกินในตลาด
การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบโลกค่อนข้างมาก รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่มากกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 454.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
ความขัดแย้งระหว่างอิรักและชาวเคิร์ดมีแนวโน้มคลี่คลายลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน หลังกลุ่มเคิร์ดได้ประกาศยุติการต่อสู้กับรัฐบาลอิรักและเสนอให้อิรักสามารถนำคนเข้าตรวจในเมือง Fish-Khabur ในขณะที่ทางรัฐบาลเคิร์ดยังคงกุมอำนาจควบคุมเมืองไว้อยู่ Fish-Khabur นั้นเป็นเมืองสำคัญเนื่องจากเป็นทางผ่านของท่อขนส่งน้ำมันไปยังประเทศตุรกี อย่างไรก็ตาม ทางอิรักยังคงกังวลกับข้อตกลงดังกล่าวและเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงการยื้อระยะเวลาออกไปเพื่อรวบรวมกองกำลังทหารในพื้นที่ชายแดนระหว่างอิรักกับตุรกี และระหว่างอิหร่านกับซีเรีย
จับตาสถานการณ์ในประเทศลิเบีย หลังเกิดเหตุประท้วงของแรงงานส่งผลให้มีการปิดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบลงราว 40,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากบริษัทน้ำมันไม่สามารถปฎิบัติตามข้อตกลงกับแรงงานได้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตอาจปรับตัวลดลงหากยังไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้และส่งผลให้มีการปิดแหล่งน้ำมันดิบ Nafoura ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 30,000 บาร์เรลต่อวัน โดยในเดือน ก.ย.60 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ที่ 923,000 บาร์เรลต่อวัน
จับตาการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลัง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 พ.ย. 60 ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 729 แท่น แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 60 โดยผู้ผลิตปรับลดการผลิตจากแผนเดิมเมื่อราคาน้ำมันดิบปรับลดลง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Manufacturing PMI) และดัชนีภาคการบริการยูโรโซน (Service PMI) ยอดค้าปลีกยูโรโซน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ต.ค. - 3 พ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากกลุ่มผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและรัสเซียที่ปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักข่าว Reuters คาดการณ์ในเดือนที่ผ่านมาความร่วมมือของกลุ่มโอเปกปรับเพื่มขึ้นมาจากร้อยละ 86 มาอยู่ที่ร้อยละ 92 รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 454.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตของประเทศสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 9.55 ล้านบาร์เรลต่อวันและการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน ยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน