- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 30 October 2017 21:33
- Hits: 10909
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 23 - 27 ต.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 ต.ค. – 3 พ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่จะปรับลดปริมาณน้ำมันคงคลังลงให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่อาจตึงตัวมากขึ้น หลังสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักระหว่างรัฐบาลกลางอิรักและชาวเคิร์ดยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันจากตอนเหนือลดลงมาต่ำกว่า 300,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าปริมาณปกติที่ 500,000 – 600,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 9.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 3 - 9 เดือน โดยซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่าเป้าหมายหลักของกลุ่มคือการปรับลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD oil stocks) ให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาข้อตกลงนี้สามารถลดปริมาณน้ำมันส่วนเกินลงไปแล้วกว่า 167 ล้านบาร์เรลและยังเหลือปริมาณน้ำมันส่วนเกินกว่า 171 ล้านบาร์เรลที่จะต้องปรับลดลง นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังคงหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลตลาดน้ำมัน หลังข้อตกลงสิ้นสุดลง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ที่คาดจะกลับมาดำเนินการผลิต หลังมีการหยุดซ่อมบำรุงฉุกเฉินจากพายุเฮอริเคน Nate รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 27 ต.ค.60 อยู่ที่ระดับเหนือ 2.0 ล้านบาร์เรล
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิรักและชาวเคิร์ดในประเทศคาดจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ หลังกองกำลังทหารอิรักบุกยึดพื้นที่ในเมือง Kirkuk คืนจากชาวเคิร์ด ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบขนาดใหญ่ 2 แหล่งในเมือง Kirkuk อย่าง Bai Hassan และ Avana กำลังการผลิตรวมกันราว 280,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องปิดดำเนินการชั่วคราว อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิรักได้เพิ่มการส่งออกน้ำมันอีก 200,000 บาร์เรลต่อวันจากอ่าวเปอร์เซีย เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่ขาดหายไป
จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดปริมาณการขุดเจาะลงต่อเนื่องกว่า 3 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะว่า ถึงแม้ว่าจะมีแท่นขุดเจาะเพิ่มขึ้นเพียง 1 แท่นในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ตค.60 ซึ่งทำให้มีจำนวนแท่นขุดเจาะทั้งสิ้น 737 แท่น อย่างไรก็ดี จัดว่ามีแท่นขุดเจาะจำนวนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีแท่นขุดเจาะจำนวน 443 แท่น
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) และดัชนีภาคการบริการ (Caixin Services PMI) ของจีน การใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 - 27 ต.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 56.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดน้ำมันได้รับแรงหนุนจากการที่ซาอุดิอาระเบียเดินหน้าปรับลดการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเพื่อที่จะหยุดยั้งอุปทานน้ำมันส่วนเกินของโลก นอกจากนั้นความตึงเครียดระหว่างอิรักและชาวเคิร์ดที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในแหล่ง Kirkuk ซึ่งมีกำลังการผลิต 280,000 บาร์เรลต่อวัน