- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 25 October 2017 21:32
- Hits: 29989
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังซาอุฯ วางแผนระยะยาวเพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง และการส่งออกน้ำมันดิบอิรักปรับลด
+ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่าจะควบคุมการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบในช่วงสั้นแต่เป็นแผนระยะยาวเพื่อป้องกันเหตุการณ์น้ำมันดิบล้นตลาดอย่างเช่นที่เคยเกิดในช่วงกลางปี 2557 โดยต้องอาศัยความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
+ นาย Khalid Al-Falih รัฐมนตรีน้ำมันคนใหม่ของซาอุดีอาระเบีย คาดความต้องการใช้น้ำมันดิบจะเติบโตร้อยละ 45 ภายในปี 2593 แม้ว่าโลกจะเริ่มให้ความสนใจการใช้พลังงานทางเลือกก็ตาม โดยอุปสงค์ที่เติบโตต่อเนื่องและอุปทานที่ถูกควบคุมไม่ให้ล้นตลาดจะทำให้ตลาดกลับเข้าสู่สมดุลในที่สุด
+ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอิรักลดลง 110,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค จากระดับ 460,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย. เนื่องจากปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบที่แท่นขุดเจาะ Kirkuk ทางตอนเหนือหยุดชะงักซึ่งส่งผลมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิรักและชาวเคิร์ดในประเทศ
+ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯสิ้นสุด ณ วันที่ 20 ต.ค. ตามการรายงานของ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) และสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ที่จะเปิดเผยในเย็นวันพฤหัสบดีและศุกร์นี้ตามเวลาของประเทศไทย จะปรับลดลงราว 2.5 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์การนำเข้าของตะวันออกกลางซึ่งอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดีเซลในประเทศจีนอยู่ในระดับสูง โดยกำลังการผลิตในเดือน ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 เทียบกับเดือน ส.ค.
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรัก หลังจากในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรักจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก สร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศ รวมถึงรัฐบาลกลางของอิรัก โดยล่าสุดสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่กองกำลังทหารอิรักเข้ายึดเมือง Kirkuk คืนจาก KRG ส่งผลให้มีการปิดบ่อน้ำมันดิบ Bai Hassan และ Avana ชั่วคราว และทำให้การผลิตน้ำมันดิบราว 3.5 แสนบาร์เรลต่อวันต้องหยุดชะงัก
กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 6 - 9 เดือน ซึ่งอาจมีการกำหนดนโยบายดังกล่าวในการประชุมของกลุ่มโอเปกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30
พ.ย. 2560 นี้ ณ กรุงเวียนนา
ติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศจะไม่รับรองข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านได้เคยทำสัญญาไว้ในปี 2558 แม้ว่าผู้ตรวจสอบจากนานาชาติได้ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวแล้วก็ตาม โดยระบุว่าอิหร่านได้ละเมิดข้อตกลงอยู่หลายครั้ง ทั้งนี้ การล้มเลิกข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้อิหร่านเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และจะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกในปริมาณที่จำกัด