- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 24 October 2017 18:31
- Hits: 3069
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 24-27 ต.ค. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 16-20 ต.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 – 27 ต.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว หลังสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักระหว่างรัฐบาลกลางอิรักและชาวเคิร์ด รวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ที่ปะทุและทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับลดลง หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มขยายข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตออกไปจากเดือน มี.ค. 61 ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันจากประเทศจีนที่แข็งแกร่ง และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาจกลับมาดำเนินการผลิต หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ล่าสุดสถานการณ์ในอิรักที่ยังคงตึงเครียดหลังจากที่กองกำลังทหารอิรักเข้ายึดเมือง Kirkuk คืนจากชาวเคิร์ด หลังชาวเคิร์ดได้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดบ่อน้ำมันดิบ Bai Hassan และ Avana ชั่วคราว และทำให้การผลิตน้ำมันดิบราว 3.5 แสนบาร์เรลต้องหยุดชะงัก
ติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศจะไม่รับรองข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ได้เคยทำสัญญาไว้ในปี 2558 แม้ว่าผู้ตรวจสอบจากนานาชาติได้ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวแล้วก็ตาม
กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 6 - 9 เดือน ซึ่งอาจมีการกำหนดนโยบายดังกล่าวในการประชุมของกลุ่มโอเปกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. 2560 นี้ ณ กรุงเวียนนา
อุปสงค์น้ำมันจากประเทศจีนยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดธนาคารกลางจีนคาดการณ์เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 7 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 นอกจากนี้ จีนมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดิบในระดับสูงเพื่อเป็นน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จีนได้ทยอยเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2558 และมีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ราว 850 ล้านบาร์เรล โดยล่าสุดตัวเลขการนำเข้าน้ำมันของจีนในเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีการนำเข้าเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 60 อยู่ที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากผลกระทบของพายุเฮอริเคน Nate โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ต.ค.60 ปรับลดลงราว 5.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 456.6 ล้านบาร์เรล
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ทยอยกลับมาดำเนินการผลิต ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจาก Shale Oil ในเดือน พ.ย. 60 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 81,000 บาร์เรล สู่ระดับ 6.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ดัชนีภาคการบริการ (Markit Services PMI) ของยูโรโซนและสหรัฐฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีราคาบ้าน ยอดขายบ้านใหม่ จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก จีดีพีไตรมาส 3/60 และ ดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลไตรมาส 3/60ของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-20 ต.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 55.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในอิรักที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากกองกำลังทหารอิรักเข้ายึดเมือง Kirkuk คืนจากชาวเคิร์ด ประกอบความขัดแย้งระหว่างระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศจะไม่รับรองข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ต่ออิหร่าน และส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้น้อยลง