- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 29 September 2017 22:55
- Hits: 15511
สนพ.ชวนดูคลิป 'LNG รู้ไว้ไม่เอ้าท์' เชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อความมั่นคงพลังงานไทย
รู้หรือไม่ ปัจจุบัน LNG กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ บทบาทที่ว่าหมายถึงอะไร สามารถติดตามได้จากคลิป LNG รู้ไว้ไม่เอ้าท์ ที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำขึ้นผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กเพจ และ ยูทูบ EPPO Thailand
LNG คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร
LNG (Liquefied Natural Gas) หรือก๊าซธรรมชาติเหลว สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เรียกว่าก๊าซธรรมชาติเหลวเพราะเป็นก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพให้เป็นของเหลวเพื่อสะดวกในการขนส่งก๊าซฯ จำนวนมากๆ ไปยังที่ต่างๆ โดยการขนส่งและซื้อขาย LNG ระหว่างประเทศโดยมากจะขนส่งทางเรือซึ่ง LNG ก่อนนำไปใช้จะต้องถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้งหนึ่ง ด้วยคุณลักษณะของ LNG ที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษ ประโยชน์ของ LNG นอกจากจะนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ (NGV) อีกด้วย
ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงใดในการผลิตไฟฟ้า
ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิง ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน รวมถึงพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ พลังลม พลังน้ำ โดยเรายังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตมากที่สุดถึงกว่า 60% ซึ่งการกระจุกตัวในการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการผลิตไฟฟ้า และเรากำลังเผชิญกับข้อจำกัดของก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไปจากอ่าวไทย อีกทั้งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งจากแหล่งสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุกับแหล่งใหม่ยังมีความล่าช้า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) ได้วางเป้าหมายให้เกิดการกระจายเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ออกไป ทยอยลดการพึ่งพาก๊าซฯ ลง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ
เป้าหมายแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี การพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติ มีข้อจำกัด ทำให้การนำเข้า LNG จากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญนำมาใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ปริมาณสำรองลดลงเรื่อยๆ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความล่าช้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันตามเป้าหมายของแผน PDP 2015 ปัจจุบันไทยมีการนำเข้า LNG ประมาณ 5 ล้านตัน/ปี และตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (GAS Plan 2015) คาดว่าปลายแผนในปี 2579 จะมีการนำเข้า LNG ประมาณ 34 ล้านตัน/ปี ซึ่งจากข้อจำกัดในเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ อาจจะส่งผลให้มีการนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นจากการคาดการณ์เดิม
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมมาตรการรองรับการนำเข้า LNG ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดหาและการนำเข้า เช่น การศึกษาเพื่อสร้างคลัง LNG ลอยน้ำ ตลอดจนวางแนวทางให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เพิ่มจำนวนผู้จัดหา และจำหน่าย จากเดิมที่มี ปตท. เพียงรายเดียว เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG อาจทำให้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นด้านราคา LNG ที่อาจสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า รวมถึงการสูญเสียเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้น แนวทางที่จะช่วยลดการเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่สำคัญคือ การร่วมกันใช้พลังงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ซึ่งจะเป็นทางออกสำคัญของการพัฒนาระบบพลังงานของประเทศให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน
'Create The Future Energy' สร้างสรรค์ ก้าวที่มั่นคง เพื่อพลังงานไทยยั่งยืน
**ติดตามคลิป 'LNG รู้ไว้ไม่เอ้าท์' ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ EPPO Thailand https://www.facebook.com/EppoKnowledge/videos/67725315246820