- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 26 September 2017 11:55
- Hits: 2162
ยกเครื่องภาคพลังงาน หนุนไทยลดต้นทุนการผลิตมหาศาล
· ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุ การปรับปรุงโรงไฟฟ้า ระบบสายส่งและการจ่ายไฟฟ้า สามารถช่วยลดต้นทุนลงได้มากกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และอีก 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยการปรับระบบสู่ดิจิทัล
· การเสริมสมรรถนะการผลิตพลังงานไฟฟ้าและการส่งจ่ายไฟฟ้าให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มากกว่า 8.6 ล้านตันต่อปี
· งานสัมมนา Powering Thailand เจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า ภาพรวมพลังงานในอนาคตของไทย รวมถึงเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ๆ โดยมีผู้นำด้านพลังงานกว่า 250 รายเข้าร่วมงาน
การขับเคลื่อนสู่ยุคดิจิทัลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 อาจช่วยให้ภาคพลังงานของไทยลดต้นทุนได้หลายแสนล้านบาท รวมถึงลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ลงได้มหาศาล
จากข้อมูลการวิเคราะห์ของจีอี (GE:NYSE) หากประเทศไทยมีการยกระดับประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า ที่มีอยู่ในปัจจุบันและโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นใหม่ รวมไปถึงระบบสายส่งและการจ่ายไฟฟ้า ประเมินว่าจะได้รับ ผลดีหลายประการ โดยจีอีคาดว่าการปรับปรุงโรงไฟฟ้า ระบบสายส่งและระบบการจ่ายไฟฟ้าจะช่วย ลดต้นทุนลงได้ถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2 แสนล้านบาท ในขณะที่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีก 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 86,000 ล้านบาท จากวัฏจักรชีวิตของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่และที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ ระบบสายส่งและการจ่ายไฟฟ้าของไทย ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างจริงจังยังจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มากกว่า 8.6 ล้านตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 9 ของปริมาณการปล่อยก๊าซจากการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน
ในด้านของการใช้โซลูชั่นใหม่ๆ ประเทศไทยถือเป็นผู้ริเริ่มใช้เทคโนโลยีเครื่องกังหันก๊าซรุ่นล่าสุด H-class ซึ่งมีศักยภาพที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นได้ราวร้อยละ 5 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ราว 0.3 ล้านตันต่อปีเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีแบบเดิมรุ่น F-class ประเทศไทยยังจะติดตั้งเทคโนโลยีถ่านหิน สะอาดระบบ Ultra-Supercritical ที่จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกร้อยละ 5 และลดปริมาณ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 0.4 ล้านตันต่อปีเมื่อเทียบกับเทคโนโลยี Supercritical แบบเก่า
นอกจากนี้ การปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 ซึ่งหมายถึงการลดต้นทุนได้ราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1 แสนล้านบาทจากการยืดอายุการใช้งาน ของโรงไฟฟ้า และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 3.5 ล้านตันต่อปี และจากทั้งหมดนี้ การเสริมสมรรถนะด้วยโซลูชั่นดิจิทัลนั้นคาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
งานสัมมนา Powering Thailand ซึ่งจัดขึ้นโดยจีอี มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานร่วมอภิปรายเกี่ยวกับ อนาคตการผลิตไฟฟ้าของไทย รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต และความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ถึงโอกาส และความท้าทายในระบบการผลิตและส่งจ่ายพลังงานของประเทศไทย
ภายในงาน นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศและดุลยภาพพลังงานในอนาคตของไทย นอกจากนี้ยังมี การร่วมอภิปรายเพื่อหาแนวทางให้การพัฒนาด้านพลังงานมีประสิทธิภาพ และผลในเชิงผลิตภาพ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเป็นดิจิทัลในภาคพลังงาน
เมื่อกล่าวถึงประเด็นนี้ นายโกวิทย์ คันธาภัสระ ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารจีอี ประเทศไทยและลาว กล่าวว่า “การปรับเปลี่ยนภาคพลังงานให้ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลคาดว่า จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมาย สำหรับประเทศไทย ผลการศึกษา (การวิเคราะห์) ของเราชี้ให้เห็นว่า การใช้ งานเซ็นเซอร์ ข้อมูล ซอฟต์แวร์และการวิเคราะห์ที่เพิ่มมากขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงาน สามารถนำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพ ผลประกอบการ ตลอดจนช่วยลดการเกิดเหตุขัดข้องของเครื่องจักร และการซ่อมบำรุง นำไปสู่การประหยัดต้นทุนได้นับล้านล้านบาท”
นายโกวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภายในงาน หัวข้ออื่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 250 คน ได้แก่สัดส่วนการใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ในอนาคตของไทย มูลค่าที่คาดการณ์และผลกระทบ จากแหล่งพลังงานดังกล่าว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานได้มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยน องค์ความคิดเห็น และ ประสบการณ์ และมุมมองเกี่ยวกับโซลูชั่นใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง มีความเสถียร และยั่งยืน”
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลล่าสุดเพื่อยกระดับ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าในไทยและระบบเครือข่ายให้ทำงาน อย่างเต็มประสิทธิภาพ ร่วมกับการใช้เครื่องกังหันก๊าซสมรรถนะสูง เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงาน ถ่านหินระบบ Ultra-super critical รวมถึงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน ระบบส่งกำลังและระบบจ่ายไฟฟ้า เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่คาดหวังว่าจะช่วยให้ไทยสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก ทั้งยังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ในด้านประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนในภาคพลังงานของประเทศไทย
นอกจากนี้ อีกไฮไลท์หนึ่งที่สำคัญภายในงานคือการนำเสนอข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงานของ จีอีที่ครบวงจร (Energy Ecosystem) ซึ่งเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรองรับห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงานของทั้งระบบ ครอบคุลมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจ่ายไฟฟ้า ในขั้นตอนสุดท้าย นวัตกรรมเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการผลิต การจ่ายไฟฟ้า และการใช้พลังงาน ในราคาที่เหมาะสม มีความเสถียรมั่นคงและยั่งยืน