WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AA ERC

กกพ. กางแผนยุทธศาสตร์ฯ กำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 3

      คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ'กกพ.'แจงแผนยุทธศาสตร์กำกับกิจการพลังงานใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมขับเคลื่อนสู่บทบาท ‘องค์กรที่สร้างความสมดุลให้กับภาคพลังงานของประเทศ’ รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมของเทคโนโลยี(Disruptive Technology) มุ่งผลักดันผลงานในด้านการกำกับ อาทิ เตรียมทบทวนโครงสร้างค่าไฟ ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขันระบบก๊าซธรรมชาติ จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พร้อมยกระดับประสิทธิภาพการบริการจัดการพลังงานเพื่อความมั่นคง

        นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561 – 2564) กกพ. ได้เตรียมแผนงานสะท้อนยุทธ์ศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) การกำกับกิจการพลังงานเป็นเลิศ (2) ส่งเสริมการแข่งขันและก้าวทันนวัตกรรมพลังงาน (3) สื่อสารงานกำกับกิจการพลังงานให้เข้าถึง และ (4) องค์กรมีสมรรถนะสูง เป็นมืออาชีพ อาทิ ดำเนินการทบทวน และผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการในกิจการไฟฟ้าใหม่ โดยคำนึงถึงต้นทุน เป็นธรรม โปร่งใส และรองรับกับรูปแบบกิจการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจทั้งในและนอกภาคพลังงาน ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากภาพรวมและทิศทางพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก ที่ส่งกระทบต่อภาคพลังงานไทย  

        “ผมเชื่อว่า ในอีกไม่นานปรากฏการณ์ Disruptive Technology จะเกิดขึ้นในทุกวงการ ภาคพลังงานเองก็เช่นกัน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากทิศทางในระดับสากล ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีในภาคพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับความพยายามพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดข้อจำกัดของพลังงานทดแทนด้วยการพัฒนาแหล่งกักเก็บพลังงาน การพัฒนาพลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเชื้อเพลิงในระบบขนส่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่องานกำกับดูแลภาคพลังงาน” นายพรเทพฯประธาน กกพ. กล่าวระหว่าง การแถลงข่าวหัวข้อ ‘ทิศทางและแผนงานตามยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561 – 2564)

       สำหรับ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลต่องานกำกับกิจการพลังงานที่ต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้แก่ การยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและระบบการผลิตไฟฟ้า การทบทวนโครงสร้างทางด้านต้นทุนและราคาจำหน่ายไฟฟ้า รวมไปถึงการพัฒนาหลักเกณฑ์ใหม่ๆเพื่อเข้ามากำกับดูแลเรื่องของการเปลี่ยนรูปแบบเชื้อเพลิงทั้งในภาคขนส่ง และภาคการผลิตไฟฟ้า ที่ต้องสามารถสร้างความเป็นธรรม เกิดความสมดุล และทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 61 จะสามารถประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงปี 61 - 63 รวมทั้งการเตรียมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้าเพื่อให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป เช่น การสนับสนุนการลดใช้พลังงานในช่วง Peak อัตราค่าไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response) การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ  

       นอกจากนี้ ยังจะเข้าไปกำกับดูแลรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตั้งแต่ต้นทางจนถึงสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าปลายทางได้ภายในปี 2561 อย่างไรก็ตามทางสำนักงาน กกพ. จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์วิเคราะห์ และพยากรณ์ข้อมูลพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และข้อมูลเพื่อประกอบการกำกับกิจการพลังงาน” โดยภายในปี 63 สำนักงาน กกพ. จะเป็นศูนย์กลางเครือข่ายด้านการพยากรณ์และการควบคุมระบบไฟฟ้า สำหรับนโยบายการกำกับดูแล และจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้ได้ทยอยประกาศหลักเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี ในส่วนของการศึกษา หลักเกณฑ์ และกำหนดอัตราค่าบริการการขนส่งน้ำมันทางระบบท่อ ก็จะทยอยดำเนินการเช่นกันหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ และคาดว่าจะสามารถกำกับอัตราค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อได้ก่อนสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ฯ ภายในปี 64

      นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ได้กล่าวถึง ผลสำเร็จการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมาตลอดช่วงเวลา 3 ปี ว่า กกพ. ชุดปัจจุบัน ได้กำหนดบทบาทการกำกับดูแลภาคพลังงานเพื่อตอบสนองการดำเนินงานในแต่ละภาคส่วน ได้แก่ (1) เพื่อภาคสังคมและประชาชนผู้ใช้พลังงาน (2) เพื่อภาคเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ (3) เพื่อภาคความความมั่นคงทางพลังงานของชาติ

        ในส่วนบทบาททางด้านภาคสังคมและประชาชนผู้ใช้พลังงานที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการทบทวนและประกาศค่าไฟฟ้าฐานเพื่อให้สะท้อนต่อสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้นในปี 58 และบริหารจัดการค่าไฟฟ้า  ผันแปร (ค่าเอฟที) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากกลางปี 57 ถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าเอฟทีก็ยังอยู่ในระดับติดลบ กกพ.ยังได้ดำเนินการทบทวนมาตรการค่าไฟฟรี 50 หน่วยให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมและยกระดับการให้บริการ โดยได้มีการออกมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในช่วงต้นปี 59

       “ในส่วนของการดูแลผู้เสียสละพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ผ่านกลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศได้มีการจัดทำโครงการแล้วกว่า 35,000 โครงการ หรือคิดเป็นมูลค่า กว่า 12,800 ล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผ่านรูปแบบการจัดทำโครงการ ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน จนทำให้หลายๆพื้นที่ ปัจจุบันได้ใช้เงินจากกองทุนฯมาเพื่อสนับสนุน โครงการหลักประกันสุขภาพ หรือโครงการหลักประกันทางการศึกษา และในส่วนบทบาทการกำกับดูแลเพื่อภาคเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่การแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า ผ่านระบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดภาระต้นทุนทางการเงิน สามารถได้รับอนุญาตทุกประเภทภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้” นายวีระพลฯ กล่าว

       นอกจากนี้ กกพ. ยังได้นำแนวทางการเปิดประมูลเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ผ่านการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง เร่งรัดการลงทุนให้เป็นไปตามสัญญาส่งผลให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ7,375 เมกะวัตต์ รวมรับซื้อ 9,223 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 60) จากเป้าหมาย 16,778 เมกะวัตต์ ภายในปี 79 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 –2579 (AEDP 2015)

         ท้ายสุด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เทคโนโลยีด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์พลังงาน 4.0 กกพ. ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) โดยได้กำหนดอัตราค่าบริการสำหรับ EV ในโครงการนำร่อง จัดทำคู่มือการขอใบอนุญาตสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำมาตรฐานทางด้านวิศวกรรมและความปลอดภัยสำหรับการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งประกาศอัตราค่าไฟฟ้าสำรองเพื่อใช้เป็นการการชั่วคราว และการส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยการเปิดให้มีการเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีให้กับบุคคลที่สาม สำหรับการเปิดเสรีในอนาคต และในส่วนการกำกับดูแลเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากประกาศรับซื้อไฟฟ้าผ่านพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังได้เตรียมการวางแนวทางการสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีค (Peak) ผ่านโครงการ Demand Response การพัฒนาฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านการผลิตไฟฟ้าเพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงทางด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

........................................................................................................................................................

เกี่ยวกับ กกพ.

           คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรหลักในการกำกับดูแลกิจการพลังงานของชาติด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

ยุทธศาสตร์ฯ กำกับกิจการพลังงาน

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!