- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 28 August 2017 17:52
- Hits: 9482
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 28 ส.ค. - 1 กย. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 21-25 ส.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ส.ค. –1 ก.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะยังได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกประกาศอพยพแรงงานและหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบหลังพายุฤดูร้อน Harvey คาดจะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบอาจถูกกดดันจากความกังวลของตลาดต่อความต้องการใช้น้ำมันเบนซินหลังเกิดอุทกภัยในรัฐเท็กซัสซึ่งเป็นผลมาจากพายุดังกล่าว ประกอบกับการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังปริมาณการขุดเจาะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียที่คาดจะเพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศคลี่คลายลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยคาดว่าโรงกลั่นจะคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค.60 ปรับลดลง 3.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 ที่ 463.2 ล้านบาร์เรล นับเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.5 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบปีที่ 56.5 ล้านบาร์เรล
จับตาพายุฤดูร้อน Harvey ในอ่าวเม็กซิโก ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าชายฝั่งทางทะเลทิศใต้ของรัฐเท็กซัสและมีโอกาสพัฒนาขึ้นเป็นพายุเฮอริเคน ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว ต้องประกาศอพยพแรงงานออกจากแท่นขุดเจาะและประกาศหยุดการผลิตน้ำมันดิบลงชั่วคราว นอกจากนั้น จากข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ การเกิดพายุดังกล่าวส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณร้อยละ 10 ของอ่าวเม๊กซิโกต้องปรับลดลง โดยโรงกลั่น 6 แห่งต้องหยุดการผลิต ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ
จับตาการขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลังราคาน้ำมันปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ชะลอการขุดเจาะน้ำมันดิบและปรับลดงบลงทุนในปี 2560 ลง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ ปรับลดลง 4 แท่นมาอยู่ที่ 759 แท่น สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ส.ค. 60 อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบในแหล่ง Permian ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ 377 แท่น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของแหล่งดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
จับตาสถานการณ์ในประเทศลิเบีย หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งมีกำลังการผลิต 280,000 บาร์เรลต่อวัน หยุดดำเนินการผลิตลง และบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) สำหรับการส่งมอบน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมาหลังกลุ่มติดอาวุธทำการปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบที่เชื่อมกับแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara และท่าเรือ Zawiya
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดย EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนบาร์เรลจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวันและมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปลายปี 2560
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2/2560 การใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตและบริการจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-25 ส.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 50.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับต่ำสุดในปีก่อนหน้าที่ประมาณ 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำม้นดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. ที่ปรับลดลง 3.3 ล้านบาร์เรลมาแตะระดับ 463.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 59