- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 14 May 2014 15:08
- Hits: 5027
'น้ำมันฝาง' แหล่งพลังงาน เพื่อความมั่นคงของประเทศ
ไทยโพสต์ : ในแต่ละปีประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมานั้น มีการใช้ถึง 2 ล้านบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด 917,015 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือมีสัดส่วน 46% ของพลังงานทั้งหมด และมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.2% เมี่อเทียบกับปี 2555, การใช้น้ำมันมีสัดส่วนรองลงมา 727,559 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัดส่วน มีการใช้เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับปี 2555, การใช้ถ่านหินลิกไนต์ 313,320 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัดส่วน 16% มีการใช้ลดลง 4.4 เมื่อเทียบเท่ากับปี 2556
ซึ่งจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมานั้น มีการนำเข้าพลังงานมูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้น้ำมันดิบนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ 1,073,000 ล้านบาท รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และ LNG 146,944 ล้านบาท, น้ำมันสำเร็จรูป 134,306 ล้านบาท, ถ่านหิน 39,733 ล้านบาท และไฟฟ้า 20,168 ล้านบาท
และจากปริมาณที่นำเข้าค่อนข้างสูงมาก ทำให้มีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่า ประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันดิบได้เองทำไม่ถึงต้องนำเข้าอีก เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด นายสมนึก บำรุงสาลี อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอฝาง เพื่อเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตน้ำมันอย่างครบวงจร ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานมีหน้าที่ดำเนินการกำกับดูแลตรวจสอบปริมาณการผลิต ควบคุมคุณภาพของน้ำมัน และการจำหน่าย โดยการออกหนังสือรับรองมาตรฐาน
สำหรับ แหล่งน้ำมันฝางปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 1,100 บาร์เรลต่อวัน มีปริมาณน้อย และนำไปใช้เพื่อความมั่นคงของประเทศ และน้ำมันที่ผลิตได้จากการกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นน้ำมันฝางมีคุณภาพไม่ตรงกับมาตรฐานน้ำมันที่ใช้ในประเทศ โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ผลิตได้ มีค่ากำมะถันสูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าที่กรมธุรกิจพลังงานประกาศไว้ เนื่องจากประเทศไทยได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันที่ใช้ในประเทศเป็นมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเกินการผลิต ทำให้กรมพลังงานทหารต้องจำหน่ายน้ำมันส่วนเกินให้ผู้ค้านอกประเทศ โดยผ่านการพิจารณาจากกรมธุรกิจพลังงาน
ก่อนอื่นมารู้จักกันก่อนถึงความเป็นมาของกิจการน้ำมันฝางว่า ปี พ.ศ.2464 ชาวบ้านท้องที่ อ.ฝาง พบน้ำมันลักษณะสีดำไหลซึมขึ้นมาบนผิวดิน บางคนว่าเป็นน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ นำมาทาร่างกายรักษาโรคต่างๆ ความทราบถึงเจ้าหลวงเชียงใหม่ จึงสั่งให้ขุดบ่อเพื่อกักน้ำมันไว้ เรียกว่า "บ่อหลวง" หรือ "บ่อเจ้าหลวง" โดยได้เริ่มตั้งแต่ สมัยกรมรถไฟ สมัยกรมทาง สมัยกรมเชื้อเพลิงทหารบก สมัยกรมโลหะกิจ
จนกระทั่งถึงยุคของสมัยกรมการพลังงานทหาร ในปี พ.ศ.2496 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรจะขยายงานด้านเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมไปถึงพลังงานอื่นๆ ที่จะจัดสรรหามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงได้ลงมติให้กระทรวงกลาโหมดำเนินงานขยายกิจการด้านองค์การเชื้อเพลิง ให้ครอบคลุมไปถึงพลังงานอื่นๆ ด้วย กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่ง (พ) ที่ 76/27217 เมื่อ 30 ตุลาคม 2496 ตั้งกรมการพลังงานทหาร และปรับปรุงขยายกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
เดือนมีนาคม พ.ศ.2499 Dr.Harold Hutton ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียม ได้ไปดูกิจการของหน่วยสำรวจน้ำมันฝาง แล้วรายงานว่า น้ำมันดิบที่ฝางเป็นน้ำมันที่ควรกลั่นออกขายได้ และเสนอให้มีการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อตั้งโรงกลั่นขนาด 1,000 บาร์เรล ถ้าหากมีปริมาณเพียงพอ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้โอนกิจการน้ำมันฝางไปขึ้นกับกรมการพลังงานทหาร เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2499 กิจการปิโตรเลียมเป็นที่สนใจของหน่วยทหารบก เพื่อสำรวจหาน้ำมันมาสนับสนุนกองทัพ กรมการพลังงานทหารจึงได้ก่อตั้งกองสำรวจและผลิตวัตถุดิบขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2499 เพื่อรับโอนงานจากกรมโลหะกิจ หลังจากที่ดำเนินการสำรวจ ผลิต และกลั่นน้ำมันที่ฝางได้ระยะหนึ่ง ได้ทำการขยายพื้นที่การสำรวจในลุ่มแอ่งภาคเหนืออีก 5 ลุ่มแอ่ง คือลุ่มแอ่งเชียงใหม่ ลุ่มแอ่งลำปาง ลุ่มแอ่งแพร่ ลุ่มแอ่งเชียงราย และลุ่มแอ่งพะเยา
กรมการพลังงานทหารจึงได้ขออนุมัติจัดสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 1,000 บาร์เรลขึ้น และก็ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี กรมการพลังงานทหารจึงได้ว่าจ้างบริษัท รีไฟนิ่ง แอสโซซิแอต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในวงเงิน 56 ล้านบาท โดยได้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 31 มกราคม 2501 แล้วเสร็จเมื่อ 27 ธันวาคม 2502 ซึ่งในขณะนั้นกรมการพลังงานทหารมีหน่วยขึ้นตรงที่อำเภอฝางอยู่ 2 หน่วย คือ กองสำรวจและผลิตวัตถุดิบ และกองโรงงานกลั่นน้ำมันที่ 1 โรงกลั่นน้ำมันได้ถูกออกแบบไว้เพื่อทำการกลั่นน้ำมันดิบไชยปราการ ซึ่งเป็นน้ำมันดิบชนิดหนัก มีค่าความถ่วง เอพีไอ 16 องศา ประกอบด้วยหน่วยกลั่นต่างๆ ดังนี้
พ.อ.กานต์ กลัมพสุต รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กล่าวว่า ศูนย์มีหน้าที่เจาะสำรวจแหล่งน้ำมันในภาคเหนือ ครอบคลุม 6 จังหวัด ปีละ 5-6 หลุม ซึ่งโอกาสพบน้ำมันไม่แน่นอน ทำให้ผลิตน้ำมันดีเซลได้เพียง 900-1,000 บาร์เรล/ปี ที่ผ่านมาเจาะสำรวจไปแล้ว 295 หลุม เกินครึ่งพบน้ำมัน แต่น้ำมันที่ได้เป็นดีเซลค่ากำมะถันไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่ได้ขายในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งต้องสำรองไว้ให้กองทัพใช้ยามฉุกเฉินหากเกิดสงคราม สำหรับปี 57 สำรวจไปแล้ว 3 หลุม และสิ้นเดือนนี้ศูนย์จะลงนาม MOU กับบริษัทเอกชน 1 ราย ซึ่งมีแผนจะตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.ฝาง และจะทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง (Contact farming-การทำเกษตรแบบมีสัญญา) ปลูกไม้โตเร็วกับเกษตรกร โดยใช้พื้นที่ของหน่วยงานทหารประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรด้วย และคาดว่าโรงไฟฟ้าเฟสแรกที่อยู่ 9 เมกะวัตต์
จะเห็นแล้วว่า การผลิตที่ได้จากแหล่งน้ำมันฝางนั้นมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ที่ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในแต่ละประเภท โดยน้ำมันเบนซินมีปริมาณการใช้เฉลี่ยวันละ 22.41 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันดีเซล มีปริมาณการใช้เฉลี่ยวันละ 59.28 ล้านลิตร จึงเป็นเหตุผลที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศกว่าวันละ 856.41 พันบาร์เรล/วัน มีมูลค่ากว่า 95.51 ล้านบาท/วัน รวมการนำเข้า LPG วันละ 4.33 ล้าน กก. ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้า 127.45 ล้านบาท/วัน ซึ่งนับว่าเป็นการขาดดุลทางการค้าของไทย เพราะในขณะเดียวกันไทยสามารถส่งออกได้เพียงประมาณ 112.48 พันบาร์เรล/วัน
ดังนั้น อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานจึงได้กล่าวย้ำว่า ควรถึงเวลาส่งเสริมให้ประชาชนประหยัดน้ำมันอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของการนำเข้าน้ำมัน อันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเศรษฐกิจของประเทศ และมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนสืบไป.