- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 14 May 2014 14:56
- Hits: 3570
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 28 เม.ย. – 2 พ.ค.57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 5–9 พ.ค. 57
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 108.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 100.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 120.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 123.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• สำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 เม.ย. 57 เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 399.4 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 อีกทั้งระบุว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินของโลก (Oil Surplus Capacity) ไม่รวมกำลังอิหร่าน ในเดือน มี.ค. - เม.ย. 57 เพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรลตต่อวันจากเดือน ม.ค.- ก.พ. 57 มาอยู่ที่ระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
? Reuters รายงานผลสำรวความเห็นของนักวิเคราะห์ต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศกลุ่ม OPEC ในเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 29.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 160,000 บาร์เรลตต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC อยู่ในระดับต่ำกว่าเพดานการผลิตที่กำหนดไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อเนื่องกันมา 7 เดือน
? ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติให้ลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรายเดือนลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน สู่ระดับ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 29-30 เม.ย. 57 (ลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันลดลงประเภทละ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน มาอยู่ที่ 2.5 และ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตามลำดับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 57) สร้างแรงกดดันกับการซื้อขายสินทรัพย์เสี่ยงและระบุว่าจะยังคงลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรต่อไปในขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
? ปัญหาการต่อสู้ในยูเครนรุนแรงขึ้นโดยรัฐบาลส่งกองกำลังเข้ากวาดล้างผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมีผู้เสียชีวิตหลายราย และสั่งการให้กองทัพเตรียมพร้อมในระดับสูงสุดเพื่อเตรียมรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย
? ประเทศตะวันตกเปิดแนวรบทางเศรษฐกิจกับรัสเซียแบบบูรณาการโดยเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อนุมัติโครงการช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนวงเงิน 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯในขณะที่รัสเซียประกาศลดปริมาณส่งมอบก็าซธรรมชาติให้ยูเครนในเดือน มิ.ย. 57 หากยูเครนไม่เริ่มชำระหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติวงเงินรวม 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯภายในเดือนนี้
? บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ของลิเบียรายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (340 KBD) ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ แม้ว่ากลุ่มผู้ประท้วง จะยอมสลายการชุมนุมและคืนพื้นที่ให้แล้ว แต่ยังมีผู้ประท้วงอีกกลุ่มที่ปิดท่อขนส่งน้ำมันซึ่งสูบถ่ายจากแหล่งผลิต นอกจากนี้ ได้เกิดผู้ประท้วงกลุ่มใหม่ปิดแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Zultun และ Raquba (รวม 39 KBD) ทางตะวันออกของลิเบีย ส่งผลให้ยอดผลิตน้ำมันดิบของประเทศอยู่ที่ 250 KBD เท่านั้น
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบต่างปรับตัวลดลง เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนยังคงออกมาสร้างความวิตกให้นักลงทุนเป็นระยะ ล่าสุด HSBC ร่วมกับ Markit Economics รายงาน Manufacturing PMI ของจีนเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 48.1 จุด เท่ากับว่าตั้งแต่ต้นปี 57 เป็นต้นมา ดัชนีดังกล่าวต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง สร้างความกังวลว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 57 อาจพลาดเป้าการเติบโตรายซึ่งรัฐบาลตั้งไว้ที่ระดับ 7.5% (ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดว่าจะเติบโตเพียง7.3%) อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนจะซบเซาแต่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มขยายความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ หลังเวียดนามออกมาตักเตือนว่าแผนการขุดเจาะน้ำมันดิบนอกชายฝั่งของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ CNOOC ของจีน ณ บริเวณทะเลจีนใต้ ในเขตน่านน้ำของเวียดนามผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนฝากฝั่งยุโรปสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนยังคงปะทุอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดกลุ่มสนับสนุนรัสเซียยิงเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายยูเครนตกท่ามกลางการสู้รบที่ดุเดือดในเมืองสลาเวียนสค์ทางตะวันออกของประเทศ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่ามีตำรวจเสียชีวิต 5 นาย ส่วนฝ่ายแบ่งแยกดินแดนรายงานว่าฝ่ายตนเองเสียชีวิต 4 ด้านรัสเซียตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการออกมาปรามให้รัฐบาลยูเครนหยุดการนองเลือด ถอนกองกำลังฝ่ายรัฐบาลที่เข้ากวาดล้างฝ่ายต่อต้านที่นิยมรัสเซีย แล้วนั่งลงบนโต๊ะเจรจาหันหน้ามาหาข้อยุติความขัดแย้งทันที สัปดาห์นี้ให้จับตาปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งจากผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ชี้ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำสถิติสูงสุดใหม่ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ทะลุ 400 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะมีผลกดดันราคาน้ำมันดิบ WTI ต่อไปในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 104-108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 100-104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลง จากปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ล่าสุด ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 57 เพิ่มขึ้น 6.6% จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 13.32 ล้านบาร์เรล และ Platts คาดว่าอินโดนีเซียจะนำเข้า น้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 57 ในปริมาณต่ำกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียเพิ่งเลื่อนกำหนดนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ค. 57 สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่นไหวที่ระดับ 117-121 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงจากปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ทั้งในสิงคโปร์และยุโรป เพิ่มขึ้นโดยสำรองใน สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.4% อยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรล และ ปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์ บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 6.7% จากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 12.26 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการส่งออกลดลง ประกอบกับระดับน้ำของแม่น้ำ Rhine ต่ำจนทำให้เรือสามารถบรรทุกน้ำมันได้เพียงครึ่งหนึ่งของปกติ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122-126 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล