- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 17 August 2017 16:01
- Hits: 3289
ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอีกครั้ง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานตัวเลขปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งผลทำให้นักลงทุนในตลาดน้ำมันดิบกลับมากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์อุปทานน้ำมันล้นตลาดอีกครั้ง
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ยังคงอยู่ที่ระดับ 231 ล้านบาร์เรล ซึ่งเท่ากับระดับเดิมในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรล
- แองโกล่า ชาติสมาชิกในกลุ่มโอเปกได้วางแผนการส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลในเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นระดับการส่งออกน้ำมันดิบของแองโกล่าที่สูงสุดในรอบ 13 เดือนตั้งแต่เดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้แองโกล่าได้ตกลงที่จะคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศไว้ที่ 1.673 ล้านบาร์เรลต่อวันตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปก
+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงประมาณ 8.95 ล้านบาร์เรลลงมาแตะระดับ 466.5 ล้านบาร์เรลซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับตัวลดลงในตะวันออกกลาง หลังโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจำเป็นต้องหยุดดำเนินการผลิตกระทันหัน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดียและประเทศจีน
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในสหรัฐ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ส.ค. ปรับลดลง 6.5 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนที่ระดับ 475.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลังผู้ผลิตในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 3 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 768 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองในรอบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องหลังกลุ่มประเทศสมาชิกในข้อตกลงได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คาซัคสถาน และมาเลเซียแสดงเจตจำนงพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตให้เป็นไปตามข้อตกลง นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. ลงประมาณ 520,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะปรับลดการส่งออกลงร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด