- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 09 August 2017 18:57
- Hits: 3519
กกพ. ออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP Hybrid Firm ย้ำกำกับอย่างมีหลักเกณฑ์ โปร่งใส เป็นธรรม มุ่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของประเทศ
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อแบบ FiT ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2564 ตามแผนนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และเพื่อการปฏิรูปด้านพลังงานของประเทศ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยว่าตามที่ กกพ. ได้ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังน้ำขนาดเล็ก (ขนาดกำลังผลิตติดตั้งระหว่าง 0.1 -10 MW ต่อเครื่อง) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยสามารถมีประเภทพลังงานหมุนเวียนที่นำมาผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่หนึ่งประเภทขึ้นไป ในแบบ SPP Hybrid Firm ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ได้เห็นชอบหลักการโดยให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) และเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในอัตราที่ 3.66 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็นอัตรา FiT คงที่ 1.81 บาทต่อหน่วย และอัตรา FiT ผันแปร 1.85 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิงโดยเสนอส่วนลด (%) จากอัตรา FiT คงที่ และมีเป้าหมายการรับซื้อรวมในปริมาณไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามพื้นที่ ดังนี้ ภาคใต้ 100 เมกะวัตต์ (จังหวัดภูเก็ต 20 เมกะวัตต์ และอำเภอเกาะสมุย 15 เมกะวัตต์) ภาคเหนือ 65 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 20 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 20 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 20 เมกะวัตต์ และกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 15 เมกะวัตต์
จากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) จากเดิมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการมีเวลาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ การยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm นี้ เป็นการเปิดรับซื้อรายใหม่เท่านั้น และต้องมีกำลังผลิตติดตั้งต่อโครงการมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ที่ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ 1) โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หรือเงินอุดหนุนอื่นๆ 2) โครงการที่เคยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าแล้ว และ 3) โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่
สำหรับ ลักษณะของโครงการ SPP Hybrid Firm จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และไม่เกิน 65% ในช่วง Off-peak โดย กฟผ. จะมีบทปรับหากคู่สัญญาไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามสัญญาในช่วง Peak นอกจากนี้ โครงการ SPP Hybrid Firm ยังสามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท และอาจใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ร่วมได้ กรณีใช้เชื้อเพลิงชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) จะต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน ไม้โตเร็ว ในสัดส่วน 20% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ โดยโครงการดังกล่าวมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี ซึ่งสัญญาประเภท Firm
จะช่วยทำให้การจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า
“สำหรับผู้ที่จะยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในโครงการนี้ต้องมีความพร้อม 4 ด้าน คือ ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง ด้านที่ดิน ด้านเทคโนโลยี และด้านแหล่งเงินลงทุนโครงการ โดยการคัดเลือกข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก คณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคจะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ และขั้นตอนที่สอง คณะอนุกรรมการพิจารณาประเมินข้อเสนอขายไฟฟ้าด้านราคา จะพิจารณาข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาต่อไป และจะประกาศผลการคัดเลือกบนเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. www.erc.or.th” นายวีระพล กล่าว
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้ตั้งแต่วันที่ 7 –21 สิงหาคม 2560 และภายในเดือนกันยายน 2560 สำนักงาน กกพ. จะจัดประชุมชี้แจงเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 2 – 6 ตุลาคม 2560 ณ สำนักงาน กกพ. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19 โดยภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและการประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค และจะพิจารณาเปิดซองข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2560 และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ กกพ. จะแจ้งผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานต่อไป
เกี่ยวกับ กกพ.
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรหลักในการกำกับดูแลกิจการพลังงานของชาติด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
Call Center 1204 / www.erc.or.th โทรศัพท์ 0-2207-3599 โทรสาร 0-2207-3502 Facebook: Energy Regulator