- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 20 August 2014 13:28
- Hits: 2856
พลังงาน ลุยสร้าง'ท่อส่งน้ำมัน' ทุ่มงบ 2 หมื่นล้านคาดแล้วเสร็จ 2561
ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต *กรมธุรกิจพลังงานเดินหน้าลุยโครงการท่อส่งน้ำมันในไทย แม้ยังไร้ข้อสรุปให้รัฐหรือเอกชนลงทุน ยันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสามารถดำเนินการได้ พร้อมเปิดประชาพิจารณ์ฟังความเห็นและออกแบบในปี 2558 แล้วเสร็จปี 2561 ใช้เงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวพลังงานเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสร้างท่อส่งน้ำมันในไทยว่า ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแนวท่อส่งน้ำมันในหลายจังหวัดที่ท่อส่งน้ำมันจะพาดผ่าน โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการสร้างท่อส่งน้ำมันจะเริ่มต้นจากชลบุรี เข้าจังหวัดระยอง และแยกเป็น 2 สาย คือ 1.สายภาคเหนือ โดยท่อน้ำมันจะพาดผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก และสิ้นสุด จ.ลำปาง และสายที่ 2.จากจังหวัดระยอง พาดผ่านไปยังจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว กรมจะทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อไป
สำหรับ โครงการท่อส่งน้ำมันดังกล่าว แม้ปัจจุบันยังไม่ ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะมอบหมายให้ใครดำเนินการ ระหว่างภาครัฐลงทุนเอง หรือเอกชนลงทุนทั้งหมด หรือภาครัฐร่วมกับเอก ชนลงทุน แต่ท่อส่งน้ำมันเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กรมธุรกิจพลังงาน ดังนั้น กรมสามารถดำเนินขั้นตอนหรือกระ บวนการเบื้องต้นเพื่อสร้างท่อส่งน้ำมันในประเทศไทยได้
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการสร้างท่อส่งน้ำมันนั้น หลังจากผ่านอีไอเอแล้ว คาดว่าตลอดปี 2558 จะต้องออกแบบรายละเอียดการวางท่อส่งน้ำมันทั้งสองเส้นทาง และหากรัฐบาลกำหนดให้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเอง ทางกรมจะเริ่มเปิดประกวดราคาก่อสร้างท่อส่งน้ำมันได้ประมาณปี 2559 ดังนั้น คาดว่าท่อส่งน้ำมันจะเริ่มสร้างและวางท่อได้จริงประมาณปี 2560 และดำเนินการได้เสร็จอย่างเร็วสุดประมาณปี 2561
สำหรับ โครงการท่อส่งน้ำมันของไทย ปัจจุบันมีภาคเอกชนไม่ต่ำกว่า 3 ราย ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวอยู่ ได้แก่ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (บาฟส์) รวมทั้งบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขณะที่กรมธุรกิจพลัง งานได้ทำการศึกษาไว้เช่นกัน โดยผลการศึกษาคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวพลังงานกล่าวว่า การเลือกให้ใครเป็นผู้ดำเนินการลงทุนโครงการท่อส่งน้ำมันนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาด้วยว่า การลงทุนรูปแบบใดจะเหมาะสมที่สุด ระหว่างภาครัฐลงทุนเอง หรือเอกชนลงทุนทั้งหมด หรือร่วมกันลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่เชื่อว่าแนวทางที่เป็นไปได้ยาก คือ การให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้ลงทุน เนื่องจากต้องเปิดเป็นสัมปทานและภาคเอกชนอาจไม่สนใจเพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่ต้องวางท่อน้ำมัน และคุ้มทุนได้ช้า
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเลือกให้ภาคเอกชนลงทุนร่วมกันหลายราย เชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากระบบสัมปทานโครงการท่อส่งน้ำมัน จะช่วยให้ภาครัฐควบคุมราคาจำหน่ายทั่วประเทศให้เป็นราคาเดียวกันได้ โดยเบื้องต้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ ซึ่งมีนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย เป็นประธาน จะมีหน้าที่เข้ามาควบคุมราคา ไม่ให้เจ้าของท่อน้ำมันค้ากำไรเกินควร และให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป.