- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 31 July 2017 23:25
- Hits: 9340
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 31 กค.- 4 ส.ค. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 24 - 28 ก.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (31 ก.ค. – 4 ส.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง จากโรงกลั่นในประเทศที่คงกำลังการผลิตในระดับสูงและการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับลดลง รวมถึงปริมาณการผลิตของไนจีเรียที่ปรับลดลง หลังมีเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ส่งผลให้ต้องหยุดการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในประเทศคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและกลุ่มทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังซาอุดิอาระเบียลดการส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ให้อยู่ระดับไม่เกิน 800,000 บาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในสัปดาห์ล่าสุด ปรับลดลง 7.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 483.4 ล้านบาร์เรล
จับตาสถานการณ์ผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย หลังมีการปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมัน Trans Niger Pipeline ซึ่งมีกำลังการขนส่ง 180,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเผชิญกับปัญหาน้ำมันรั่วโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้บริษัท Shell ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) สำหรับส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light ซึ่งจากเดิมมีแผนที่จะส่งออกน้ำมันดิบดังกล่าวในเดือน ส.ค. ประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับต่ำสุดของปีก่อนหน้าที่ 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นของจำนวนแท่นขุดเจาะเริ่มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากรายงานของ Baker Hughes จำนวนแท่นขุดเจาะเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่น ในไตรมาส 2 ลดลงจากไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นกว่า 133 แท่น
ความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดคลี่คลายลง หลังการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา มีมติให้ไนจีเรียคงปริมาณการผลิตหรือปรับลดปริมาณการผลิตตามความเหมาะสม หากไนจีเรียสามารถควบคุมปริมาณการผลิตของประเทศให้อยู่ใกล้ระดับเป้าหมาย 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงซาอุดิอาระเบียที่ประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. ให้อยู่ระดับไม่เกิน 6.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของลิเบียคาดจะยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ในเร็วนี้
จับตาการประกาศผลประกอบการของบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ หลังราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกดดันให้บริษัทหลายรายประกาศลดเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบและงบลงทุน (CAPEX) สำหรับปีนี้ลง โดยบริษัท Hess และ Whiting Petroleum ประกาศปรับลดงบลงทุนในปีนี้ลงกว่าร้อยละ 4 และ 14 ตามลำดับ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดการขุดเจาะในแถบ North Dakota นอกจากนี้ล่าสุด บริษัทรายใหญ่อย่าง Conoco Phillips ปรับลดงบประมาณลงกว่าร้อยละ 4 มาอยู่ที่ประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการจีน อัตราการว่างงานยูโรโซน GDP ไตรมาส 2 ของยูโรโซน และดัชนีภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 ก.ค. – 28 ก.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 4.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 49.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. ปรับลดลง 7.2 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 483 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล