- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 17 July 2017 20:27
- Hits: 7501
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 17-21 ก.ค.60 และสรุปสถานการณ์ฯ 10-14 ก.ค.60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 – 21 ก.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องจากความกังวลต่อปัญหาอุปทานล้นตลาด หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย ลิเบีย คาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังความไม่สงบในประเทศคลี่คลายลงส่งผลให้ปริมาณการผลิตของไนจีเรียและลิเบียเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 และ 4 ปี ตามลำดับ
นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจาก ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขุดเจาะน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากโรงกลั่นที่ยังคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศคลี่คลายลง จากรายงานล่าสุดของโอเปกในเดือน ก.ค. 60 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้าที่ประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ปริมาณการผลิตของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นราว 127,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 0.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกทั้ง 14 ประเทศปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 32.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี เกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนของปริมาณการผลิต หลังบริษัทน้ำมันรายใหญ่ในไนจีเรียได้ประกาศเหตุสุดวิสัยในการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light ซึ่งกำหนดจะส่งออก 164,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน กค. 60 และ 226,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน สค. 60 โดยมีสาเหตุมาจากการปิดซ่อมบำรุงท่อส่งน้ำมัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังผู้ผลิตเพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่น มาอยู่ที่ 765 แท่น โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากแหล่ง Permian ทั้งนี้จากผลของการขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปลายปีนี้
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในประเทศคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและกลุ่มทวีปอเมริกาใต้และปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยเฉพาะจากซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จากค่าเฉลี่ยเดิมที่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 850,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. นี้ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. 60 ปรับลดลง 7.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 495.30 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล
⦁จับตาท่าทีผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะมีการหารือถึงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติม เช่น การกำหนดเพดานการผลิตของไนจีเรียและลิเบียหรือไม่ในการประชุมวันที่ 24 ก.ค.นี้ หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณการผลิตเป้าหมายที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ ปริมาณการผลิตของลิเบียล่าสุดแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกลุ่มโอเปกคาดในการประชุมครั้งนี้จะยังไม่ได้มีการออกมาตรการใดเพิ่มเติมเพียงแต่เป็นการหารือถึงความร่วมมือเพิ่มเติมเท่านั้น
⦁ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ยอดค้าปลีกจีนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนGDP ไตรมาส 2/60 ของจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 - 14 ก.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 46.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายงานโดย สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดลงราว 7.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับลดลง ในขณะที่ อัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น