- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 12 July 2017 18:20
- Hits: 5222
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1.4 หลัง EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง
+ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1.4 หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดการคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปี 2561
+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปี 2561 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 570,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 680,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดการคาดการณ์ของราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลง
+ แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันในยุโรป ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 10.471 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังยังคงปรับตัวลดลง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความต้องการใช้อาจดีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
+ หลังปิดตลาด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 8.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 495.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลงเพียง 2.9 ล้านบาร์เรล
-/+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียปรับเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 10.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายการผลิตที่ตกลงกับไว้กับกลุ่มโอเปก 12,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบยังคงต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศปรับเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ขณะที่อุปทานจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นยังคงทรงตัว
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความต้องการนำเข้าจากอินเดียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นภายในประเทศจะเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตตามปกติหลังปิดซ่อมบำรุงในช่วงปลายเดือน ก.ค.
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 6.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 502.9 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 137 แท่น
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ลิเบียปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้
ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่