- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 11 July 2017 14:23
- Hits: 2358
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 10-14 ก.ค.60 และสรุปสถานการณ์ฯ 3-7 ก.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 ก.ค. –14 ก.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะถูกกดดัน จากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตเช่นลิเบีย และไนจีเรีย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความกังวลให้กับตลาด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่น และ ความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยการปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากลิเบีย และ ไนจีเรีย หลังสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือนมิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับในเดือนพ.ค. มาสู่ระดับ 25.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 730,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ในขณะเดียวกัน ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของไนจีเรียปรับตัวสูงขึ้นไปแตะระดับ 2.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2558
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการปรับเพิ่มขึ้นหลักๆ มาจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 127,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 5.475 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้แหล่งผลิตน้ำมันดิบที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดยังคงเป็นแหล่ง Permian ซึ่งปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นราว 65,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 7 แท่น มาอยู่ที่ 763 แท่น
จับตาท่าทีผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดน้ำมันดิบในการประชุมวันที่ 24 ก.ค.นี้หรือไม่ หลังหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าปัจจุบันที่ปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คาดหวังว่าจะได้เห็นการปรับลดกำลังการผลิตจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงปรับกำลังการผลิตครั้งนี้ ในขณะที่ รัสเซียอาจต่อต้านความพยายามที่จะปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่มีการปรับลด ณ ปัจจุบัน หากมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวในการประชุมผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. นี้
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 มิย. 60 ปรับลดลงราว 6.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 502.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ อัตราการกลั่นปรับเพิ่มขึ้นราว 1.1% แตะระดับ 93.6% และ ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินประเพิ่มขึ้นราว 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 ก.ค. – 7 ก.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง 6.3 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นเพิ่มอัตราการกลั่นสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ราคายังคงถูกกดดันจาก ปริมาณการส่งออกของกลุ่มโอเปกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบีย และ ไนจีเรียคลี่คลายลง