WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 11 – 15 ส.ค. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 18 – 22 ส.ค. 57

              ฝ่ายกลยุทธ์ และแผนธุรกิจหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 103.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 97.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 110.83  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 116.60  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

·       ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 2557 สูงที่สุดในรอบ 5 เดือน อยู่ที่ระดับ 30.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน  เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน  โดยที่ประเทศซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 57  เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 75,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 9.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC)

·       สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในเดือน ก.ค. 2557 สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันได้ที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 27 ปี ทั้งนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปี 2558 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

·       สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงาน GDP ของยูโรโซน ไตรมาสที่ 2/57 อยู่ที่ระดับ 0.0 % แตกต่างจากที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ไว้ที่ +0.1% นอกจากนี้อิตาลีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์หลัง GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยไตรมาส 2/57 อยู่ที่ -0.2% ต่อเนื่องจากติดลบ 0.1%  ในไตรมาส 1/57

·       สถาบัน ZEW ของเยอรมนี รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index) ในเดือน ส.ค. 2557 ลดลง จากเดือนก่อน 18.5 จุด อยู่ที่ระดับ 8.6 จุด ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557  หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในยูเครนลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน

·       อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาสที่ 2/2557 ของประเทศญี่ปุ่นถดถอยอยู่ที่ระดับ -6.8% หลังจากรัฐบาล

       ประกาศเพิ่มภาษีผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 2557 จาก 5% เป็น 8% ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว และสึนามิในช่วง พ.ศ. 2554

·       National Development and Reform Commission ของจีนรายงานสัดส่วนการบริโภคพลังงานต่อ GDP ของจีน ในครึ่งปีแรกของปี 2557 ลดลงจากปีก่อนประมาณ 4.2%

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

·       สถานการณ์การสู้รบในยูเครนใกล้ถึงจุดแตกหักภายหลังจากประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก ของยูเครนแถลงว่ากองทัพยูเครนทำลายขบวนรถหุ้มเกราะของรัสเซียซึ่งข้ามพรมแดนจากรัสเซียเข้ามาในยูเครน นอกจากนี้อเล็กซานเดอร์ ซาคาร์เชนโก ผู้นำฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในยูเครน ซึ่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (Donetsk People's Republic ซึ่งยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากนานาชาติ) ประกาศว่าขุมกำลังของตนแข็งแกร่งขึ้น และพร้อมเปิดฉากโต้กลับกองทัพยูเครนแล้วหลังได้รับรถหุ้มเกราะพร้อมนักรบที่ฝ่านการฝึกฝนมาในรัสเซีย

·       นายกรัฐมนตรี นูรี อัลมาลิกี ของอิรักประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้นักการเมืองร่วมพรรคหยั่งเสียงสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ปัจจุบันมีเหตุการณ์ความรุนแรงในอิรักที่มีสาเหตุจากความแตกแยกภายในประเทศจนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม ISIS ที่มีจุดมุ่งหมายสร้างรัฐมุสลิมใหม่ขึ้นในพื้นที่ของซีเรีย และอิรัก ทั้งนี้นานาชาติต่างก็ตั้งความหวังว่าการปกครองที่สร้างความแตกแยกในช่วง 8 ปี ที่นายอัลมาลิกีอยู่ในอำนาจจะยุติลง

·       ธนาคารกลางของจีนประกาศใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอดส่องและมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไปสู่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง (Real Sector) เพื่อกระจายสินเชื่อสู่ธุรกิจขนาดย่อม (SME) รวมทั้งรักษาสภาพคล่องลดภาวะต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ 

·       รัฐบาลฝรั่งเศสยกเลิกนโยบายขาดดุลงบประมาณที่เคยตั้งไว้ที่ 3% ของ GDP เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังมีความยืดหยุ่นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

                ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในยูเครน และรัสเซียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติตะวันตกที่เป็นคู่ค้าสำคัญของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรต่อชาติตะวันตกของรัสเซียที่ห้ามการนำเข้าอาหาร พืชผัก และผลไม้จากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปนั้น มาตรการดังกล่าวเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันในระยะยาว โดยล่าสุดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ GDP ของยูโรโซน ไตรมาสที่ 2/57 หยุดนิ่งอยู่ที่ 0.0% โดยเมื่อเรียงตามประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน 3 อันดับแรก GDP เยอรมนีอยู่ที่ -0.2% (หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบปีครึ่ง หลังจากพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้เมื่อต้นปี 56) และ GDP ฝรั่งเศสอยู่ที่ 0.0%  (ทรงตัวมา 2 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว) ส่วน GDP ของอิตาลีอยู่ที่ -0.2% (เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคหลังหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน) อย่างไรก็ตาม

     ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์จากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย และยูเครนยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ กอปรกับอิสราเอล และปาเลสไตน์ยังคงโจมตีกันด้วยการยิงจรวด และโจมตีทางอากาศเป็นระยะๆ แม้ว่ายังอยู่ในช่วงเวลาหยุดยิงตามที่ตกลงกันก่อนหน้าก็ตาม สัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 101.9-107.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 93.2-98.6  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงเนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเบาบางขณะที่โรงกลั่นเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ส่งผลให้อุปทานเบนซินในตลาดมีเหลือเพื่อรอการขาย โดยไต้หวันออกประมูลขายเบนซิน 92 RON  ปริมาณ 250,000 บาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES)  รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ช่วงสิ้นสุดสัปดาห์วันที่ 13 ส.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อน 1.03 ล้านบาร์เรล (10.24%) อยู่ที่ระดับ 10.08 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย Pertamina มีแผนนำเข้าเบนซิน 88 RON ในเดือน ก.ย.2557 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.4 ล้านบาร์เรล์ อยู่ที่ 9.4 ล้านบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุมกอปรกับหน่วยกลั่นดีเซล (Hydrogeneration 1.5 ล้านเมตริกตันต่อปี) หน่วยใหม่ของโรงกลั่น Jiujiang ของจีนแล้วเสร็จส่งผลให้จีนลดการนำเข้าดีเซล ขณะที่อุปทานในตลาดจากโรงกลั่นไต้หวัน อินเดีย และคูเวตออกประมูลขายเพื่อส่งมอบในเดือน ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตามศรีลังกาประมูลซื้อดีเซลชนิด 500 PPM Sulfur ปริมาณ 150,000 บาร์เรลส่งมอบเดือน ต.ค. 2557 และ IES ของสิงค์โปร์รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ของสิงค์โปร์สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 13 ส.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.68 ล้านบาร์เรล  หรือ 6.2% อยู่ที่ระดับ 10.20 ล้านบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!