- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 04 July 2017 20:11
- Hits: 2332
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มต่อราวร้อยละ 2 หลังคาดปริมาณน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ปรับลดลง
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 8 โดยได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลง 2 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 756 แท่น ซึ่งปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 หลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 23 สัปดาห์ติดต่อกัน
+ นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงราวร้อยละ 0.8 ในเดือนมิ.ย. เทียบกับเดือน ก.ค. จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยว รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯใน 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ที่ปรับลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวันจากพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
- อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกิน โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกทั้ง 14 ประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. กว่า 280,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 32.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากไนจีเรียเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงลิเบียที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจนแตะระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในสิ้นเดือน ก.ค.
+/- ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (PMI) ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.0 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 52.7 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดัชนีที่อยู่ระดับสูงกว่าระดับ 50 แสดงถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในสหรัฐฯ ที่ยังคงเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดยังได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในเอเชียตะวันออกยังคงแข็งแกร่ง สนับสนุนตลาดให้ไม่ปรับลดลงมากนัก
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากแรงหนุนจากอุปสงค์ในเอเชียยังทรงตัวในระดับดี โดยเฉพาะ อินเดีย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันดีเซลจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชซิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 60.83 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 509.2 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 137 แท่น
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ลิเบียปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้
ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่