WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL47ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 3-7 ก.ค. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 26-30 ก.ค. 60              

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 ก.ค. – 7 ก.ค. 60)

 ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงหลังโรงกลั่นยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงและปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลง ประกอบกับ กลุ่มโอเปกและนอกโอเปกยังคงเดินหน้าลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคายังคงเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดที่ยังคงไม่คลี่คลายในเร็วนี้ หลังคาดการณ์ปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการผลิตในพื้นที่อ่าวเม็กซิโกคาดว่าจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ หลังผลกระทบจากพายุฤดูร้อน Cindy เริ่มคลี่คลายลง นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยังส่งผลกดดันต่อราคาต่อเนื่อง

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

 ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่คาดว่าจะปรับลดลง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนของตะวันออกกลาง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชซิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 3 แสนบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 60.83 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1 แสนบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 509.2 ล้านบาร์เรล

 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องกว่า 23 สัปดาห์ติดต่อกันมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ เม.ย. 58  อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ปรับลดปริมาณการผลิตลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ มค. 60 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างมากในไตรมาสนี้ โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 30 มิ.ย. 60 ปรับลดลง 2 แท่น มาอยู่ที่ 756 แท่น

     ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบีย ซึ่งได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้มากกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ปริมาณการผลิตของลิเบียจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ก่อนเป้าหมายว่าจะสู่ระดับดังกล่าวในสิ้นเดือน ก.ค.

      ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่ หลังราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะสามารถตกลงขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตไปสิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 แทนระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 60 หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลิเบีย และไนจีเรียได้ปรับเพิ่มขึ้นเกินคาด

     ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการจีน ดัชนีภาคการผลิตและบริการยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 มิ.ย. – 30 มิ.ย. 60)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากแรงซื้อของนักเก็งกำไรหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงและปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนในสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินในตะกร้าหลัก ส่งผลให้น้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลเงินสหรัฐฯ มีราคาถูกลงและมีความต้องการมากขึ้น ในขณะที่ การปรับลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!