- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 25 June 2017 00:00
- Hits: 7484
คสช.ออกประกาศใช้มาตรา 44 ในราชกิจจาฯ ปลดล็อคใช้ที่ดิน ส.ป.ก.
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคล ดังที่ได้จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 นั้น
ต่อมาความต้องการของประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลกซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นอันมีความจำเป็นอย่างยิ่งควบคู่กันไปกับการแก้ปัญหาของเกษตรกรดังกล่าวข้างต้นโดยยังคงหลักการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
โดยที่ในปัจจุบันพลังงานเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสถานการณ์โลก ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนให้มีการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานอย่างยั่งยืน รวมทั้งการดำเนินการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อป้องกันการขาดแคลนพลังงาน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ในขณะที่นโยบายในการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ก็เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเช่นกัน
แต่โดยที่ในการดำเนินการเพื่อให้นโยบายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล มีความจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการภายในที่ดินของรัฐบางประเภทโดยเฉพาะที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีสภาพไม่เอื้อหรือไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมอย่างคุ้มค่า ซึ่งในปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเขตปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 40 ล้านไร่ ได้มีการยินยอมหรืออนุญาตให้เอกชนเข้าใช้หรือหาประโยชน์ที่ดินตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนเนื้อที่เพียงประมาณร้อยละ 0.1 ของเนื้อที่เขตปฏิรูปที่ดินทั้งหมดของประเทศ แต่การจะเข้าใช้หรือหาประโยชน์ที่ดินดังกล่าว เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นนั้น ยังมีข้อจำกัดทางด้านกฎระเบียบบางประการที่มีมาตั้งแต่ในยุคสมัย ที่ความจำเป็นสำคัญเร่งด่วนยังไม่ปรากฏดังเช่นในปัจจุบัน
ในบางเรื่องรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ให้สัมปทาน ยินยอมหรืออนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตดังกล่าวไปก่อนแล้วตามระเบียบจนมีการลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานอย่างกว้างขวางและมีภาระผูกพันกับรัฐโดยเกษตรกรเองก็ได้รับค่าตอบแทนหรือชดเชยการให้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินจนเป็นที่พอใจ ทั้งบางแห่งมีการจัดทำบริการสาธารณะให้เกษตรกรในพื้นที่เหล่านั้นตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม และก่อให้เกิดรายได้เสริมจากทางอื่นต่อเนื่องตามมาแก่เกษตรกรอีกด้วย โดยประเทศชาติสามารถใช้ประโยชน์สาธารณะจากทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าว ประโยชน์ตอบแทนส่วนหนึ่งตกเป็นรายได้ของท้องถิ่นนั้น ๆ รายได้ที่เหลือนำเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเมื่อสิ้นสุดเวลาเข้าใช้ประโยชน์แล้วก็ยังสามารถคืนที่ดินนั้นให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เช่น ทำเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แหล่งเก็บน้ำตามโครงการแก้มลิง หรือเพื่อทำการเกษตรโดยตรงตามปรัชญาของการปฏิรูปที่ดิน หากยกเลิกพันธะผูกพันดังกล่าว เกษตรกรและประเทศชาติก็จะเสียประโยชน์ และเกิดการฟ้องร้องติดตามมาอีกมากมาย
จึงจำเป็นต้องลดข้อจำกัดอันเป็นอุปสรรคดังกล่าวภายใต้หลักการใช้ที่ดินของรัฐให้สมประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายทั้งแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศในขณะเดียวกันการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นต้องให้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกลับคืนสู่เกษตรกรในรูปแบบที่อาจแตกต่างไปจากเดิมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมแก่เกษตรกร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ด้านพลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อดำเนินกิจการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ในการพิจารณาให้คำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ ประโยชน์แก่เกษตรกร และประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ประเภทของกิจการหรือโครงการ เนื้อที่ วัตถุประสงค์ และมูลค่าของการดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
โดยในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องกำหนดขนาดเนื้อที่และประเภทของวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีก่อนพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตไว้ด้วย ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้มีการออกกฎกระทรวงไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการกำหนดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินตามวรรคหนึ่ง
ข้อ 2 ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดให้ผู้ขอใช้ประโยชน์ที่ดินเยียวยาหรือจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบนั้น และให้นำส่งค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามข้อ 1 และข้อ 5 เข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ข้อ 3 การพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตตามคำสั่งนี้ ไม่มีผลเป็นการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 4 ให้ผู้ได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม การสำรวจแร่ การทำเหมือง หรือการทำเหมืองใต้ดินตามกฎหมายว่าด้วยแร่ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ.2541 หรือระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาต และการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2541 อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ยื่นคำขอตามข้อ 1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามข้อ 1 วรรคสอง ใช้บังคับ ในระหว่างนั้นให้ผู้ได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตใช้ที่ดินได้ไปพลางก่อนหรือจนกว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 5 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเข้าใช้ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว โดยยังไม่ได้รับความยินยอมตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ.2541 ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมในขั้นตอนใดก็ตาม ให้ผู้รับสัมปทานนั้นยื่นคำขอตามข้อ 1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามข้อ 1 วรรคสอง ใช้บังคับ ในระหว่างนั้นให้ผู้รับสัมปทานใช้ที่ดินได้ไปพลางก่อนหรือจนกว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นโดยต้องชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่เมื่อเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด
ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมไม่อาจเข้าใช้พื้นที่ที่ขอสงวนไว้ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีมติให้ชะลอการให้ความยินยอมในการใช้ที่ดินเพื่อการสำรวจหรือใช้หรือหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ.2541 เพื่อรอการพิจารณาคดีเกี่ยวกับอำนาจในการออกระเบียบดังกล่าว ให้ระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ดังกล่าวขยายออกไปเท่ากับระยะเวลาที่ไม่อาจเข้าใช้พื้นที่ที่ขอสงวนได้
ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีอำนาจพิจารณาคืนค่าสงวนพื้นที่ให้แก่ผู้รับสัมปทานเป็นรายกรณี สำหรับช่วงเวลาที่ผู้รับสัมปทานไม่อาจเข้าใช้พื้นที่ที่ขอสงวนไว้และการไม่อาจเข้าใช้พื้นที่นั้นเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่สงวนได้ระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ที่ขยายออกไปตามวรรคหนึ่ง เมื่อรวมกับระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ก่อนวันที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีมติให้ชะลอการให้ความยินยอมแล้ว ต้องไม่เกินระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานกำหนดตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 ในช่วงระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ที่ขยายออกไปตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 7 ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามข้อ 1 ใช้บังคับให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความยินยอมตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ.2541 มาใช้บังคับกับผู้รับสัมปทานที่ได้ยื่นแผนการผลิตในรายละเอียดสำหรับพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2550 ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามข้อ 1 ใช้บังคับ
ข้อ 8 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาอนุญาตให้สำรวจหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติการให้ใช้ที่ดินเพื่อดำเนินกิจการด้านพลังงาน และการดำเนินกิจการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศด้วย
ข้อ 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงตามคำสั่งนี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ข้อ 10 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 11 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
กรมเชื้อเพลิงฯพร้อมให้เอกชนกลับผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก. หากรัฐออกม.44 แก้ปมปัญหา,สูญรายได้แล้วกว่า 1 พันลบ.
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯจะได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก. กลับเข้าผลิตปิโตรเลียมได้ทันที และให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากมีการประกาศใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกมาแล้ว ขณะที่การหยุดผลิตปิโตรเลียมของผู้ประกอบการตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้สูญรายได้แล้วกว่า 1 พันล้านบาท
"กรมฯประเมินความเสียหายจากมูลค่าปิโตรเลียมที่หายไปตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 จนถึงปัจจุบัน และคาดว่ากว่าที่ผู้ประกอบการจะกลับมาผลิตในอัตราเดิมคงใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือน หรือคิดรวมประมาณ 50 วัน แบ่งเป็นมูลค่าปิโตรเลียมที่หายไปกว่า 1 พันล้านบาท ,ค่าภาคหลวงที่หายไป 125 ล้านบาท และรายได้ที่ส่งเข้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 60% คิดเป็นส่วนที่หายไป 75 ล้านบาท"นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กรมฯ จะได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในรายละเอียดของการกำหนดพื้นที่และขั้นตอนการยื่นคำขอใช้พื้นที่ส.ป.ก. เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมให้มีความชัดเจนและเหมาะสมต่อไป รวมทั้ง มีแผนจะดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า เป็นต้น เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ การประกอบกิจการปิโตรเลียม นับเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้มีการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ที่เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับนอกเหนือไปจากการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการชดเชยโดยตรงให้กับเกษตรกรผู้ถือครองสิทธิ์ในพื้นที่นั้น ๆ และหากมีการนำผลประโยชน์ที่ได้ส่งเข้ากองทุนเพื่อเกษตรกรตามข้อเสนอของส.ป.ก. กรมฯ ก็ไม่ขัดข้อง
ที่ผ่านมานั้นการประกอบกิจการปิโตรเลียมได้สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะนำส่งกระทรวงการคลังร้อยละ 40 และจัดสรรกระจายรายได้ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 60 นอกจากนี้ บริษัทผู้รับสัมปทานยังมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในพื้นที่ที่มีการดำเนินสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอีกด้วย เช่น การนำก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้งบางส่วนมาใช้แทนก๊าซหุงต้มในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของท้องถิ่น
อนึ่ง การประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ผ่านมามติให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก. ใน 3 กิจการ ได้แก่ 1.การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2.การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ 3.การทำเหมืองแร่ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยถือว่าไม่เป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ ทั้งสิ้น 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย
3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4. บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
ส.ป.ก.เผยคืบหน้าจัดที่ดิน-มอบเอกสารสิทธิ์เกษตรกรในพื้นที่ยึดคืนตาม ม.44 กว่า 1.6 หมื่นไร่ ใน 6 จ.
นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ป.ก.สามารถดำเนินการจัดที่ดินและมอบเอกสารสิทธิ ในพื้นที่ยึดคืนตาม ม.44 ให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ได้ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี สระแก้ว เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครราชสีมา และชลบุรี จำนวน 24 แปลง เนื้อที่ 16,742 ไร่ ซึ่งจะสามารถรองรับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้จำนวน 1,384 ราย
ทั้งนี้ ส.ป.ก.จะเสนอให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานในการมอบหนังสือเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่ง ส.ป.ก. มีการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อแบบประณีต (โคบาลบูรพา) และส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์และลดต้นทุนการผลิต
ด้านนายปริญญา เพ็งสมบัติ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากส.ป.ก. ได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในปี 2560 ส.ป.ก.มีพื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ เพื่อนำที่ดินเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน โดยในระยะแรก ส.ป.ก.ได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่แล้ว 30,000 ไร่ จำนวน 33 แปลง ในพื้นที่ 9 จังหวัด และระยะที่สอง ในพื้นที่ส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 70,000 ไร่ จำนวน 71 แปลง ในพื้นที่ 14 จังหวัด
อินโฟเควสท์