- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 17 August 2014 21:40
- Hits: 2762
'บิ๊กตู่'ไฟเขียวแผน 'พีดีพี'ฉบับใหม่ สั่งปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซ
แนวหน้า : คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ 'พีดีพี'แล้ว เน้นความมั่นคงระบบไฟฟ้า-พลังงานทดแทน พร้อมมีมติให้ ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซฯตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยมี 'คลัง'ร่วมถือหุ้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2557 ที่ผ่านมา โดยมีมติ
บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)หรือ PTT แยกธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติ ออกมาจากธุรกิจน้ำมัน โดยให้ตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในมิ.ย.2558 ขณะเดียวกัน กพช.ยังเห็นชอบให้ PTT ปรับโครงสร้างธุรกิจโรงกลั่น โดยการลดจำนวนโรงกลั่นที่ PTT ถือหุ้นลงภายในกลางปี 2558 ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติมีการแข่งขันที่เป็นธรรมในอนาคต และให้บุคคลที่ 3 สามารถเข้ามาใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้
"ในเบื้องต้นจะให้ปตท.จะถือหุ้นในบริษัทท่อก๊าซดังกล่าว 100% ภายในเดือนมิถุนายนปี 2558 และหลังจากนั้นให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นแทนในสัดส่วน 25% และยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้จะไม่มีการแปรรูปบริษัทท่อก๊าซดังกล่าวอย่างแน่นอน"นายอารีพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ กพช.ยังได้พิจารณาเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ของ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง(SPRC) โดยเห็นชอบ(ร่าง)สัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) "สัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม" ระหว่างกระทรวงพลังงานกับ SPRCเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการแข่งขันของธุรกิจการกลั่นน้ำมันโดยเสรี โดยให้ ปตท.ลดสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการโรงกลั่นน้ำมัน SPRC ลง เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนไม่น้อยกว่า 30% ของทุนจดทะเบียน และให้ SPRC จำหน่ายหุ้นให้กับประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในไตรมาส 2/58 หรือภายใน 6 เดือนภายหลังจากวันที่ลงนามในสัญญาฯ
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (Power Development Plan : PDP2015) ระยะยาว 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาทตามนโยบายรัฐบาล และการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวโน้มทิศทางพลังงานโลก (World Energy Outlook) ของทบวงพลังงานโลก (International Energy Agency : IEA) โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอ กพช.พิจารณาต่อไป
พร้อมกันนี้ จะปรับกรอบระยะเวลาของแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใหม่ ให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558-2579 เช่นเดียวกับแผน PDP ฉบับใหม่
"รายละเอียดของแผน PDP ในเบื้องต้นจะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงลง จากปัจจุบันมีสัดส่วน 70% โดยกำหนดให้เป็นมีเชื้อเพลิงแต่ละประเภทไม่ควรเกิน 30% โดยอาจเพิ่มการใช้พลังน้ำ ถ่านหินสะอาดเพิ่มมากขึ้น ส่วนนิวเคลียร์จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้ง พร้อมทั้งให้ดูภาพรวมในการใช้ลังงานทดแทนด้านอื่นให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชีวมูล ไบโอแก๊ส พลังงานจากขยะ หรือผลผลิตทางการเกษตร" นายอารีพงศ์ กล่าว
สำหรับ แนวทางการจัดทำแผน PDP 2015 นั้น จะคำนึงถึงปัจจัยสำคัญคือ 1.ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ 2.ความสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงานฯ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ของประเทศ และ 3.สัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยจะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดด้านเศรษฐกิจสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศ(Sustainability), ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า(Cost Effectiveness), การกระจายแหล่งเชื้อเพลิง(Fuel Diversification) และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(Emission)