- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 20 June 2017 08:59
- Hits: 4942
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 12-16 มิ.ย. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 19-23 มิ.ย. 60
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6 แท่น มาอยู่ที่ 747 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 22
Energy Information Administration (EIA) ประเมินว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยรายปีของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2560 และจะเพิ่มสู่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2561
รายงาน Drilling ActivityReport ของ EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 60 จะเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 5.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นรายเดือนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะผู้ผลิต Shale oil บริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันดิบที่ผลิตในปี พ.ศ. 2560 ที่ราคา 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้สามารถผลิตน้ำมันได้แม้ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบลดลง
บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corporation : NOC) เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานกับบริษัท Wintershall ของเยอรมนีได้สำเร็จ ทำให้บริษัทกลับมาผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 170,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.60 ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 830,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน ก.ค. 60
Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มิ.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 27,112 สัญญา มาอยู่ที่ 215,096 สัญญา ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
วันที่ 12 มิ.ย. 60 บริษัท Shell ประกาศ force majeure การส่งมอบน้ำมันดิบ Bonny Light เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบ Trans Niger (ปริมาณสูบถ่าย 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบดังกล่าวถูกเจาะเพื่อขโมยน้ำมัน เดิมบริษัท Shell มีแผนส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light ปริมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. 60 ทั้งนี้ Reuters รายงาน บริษัท Shell ใช้ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Nembe Creek (ปริมาณสูบถ่าย 600,000 บาร์เรลต่อวัน) ส่งออกแทน
ซาอุดีอาระเบียเผยแผนลดปริมาณส่งออกน้ำมันดิบให้แก่ลูกค้าในเอเชียและสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 60 โดยลดปริมาณส่งออกไปยัง อินเดียและจีน 200,000 บาร์เรลต่อวัน และ 110,000 บาร์เรลต่อวัน และผู้ค้าคาดว่าจะลดปริมาณส่งออกไปยังสหรัฐฯ ราว 35% จากเดือน มิ.ย. 60 (ในเดือน มิ.ย. 59 สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียราว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และส่งออกไปยุโรปลดลง 11% จากเดือน มิ.ย. 60 (ในเดือน มิ.ย. 59 สหภาพยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียราว 810,000 บาร์เรลต่อวัน)
EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 511.5 ล้านบาร์เรล
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก สภาวการณ์น้ำมันดิบล้นตลาดยังคงดำเนินต่อเนื่องโดยเฉพาะในเอเชีย ล่าสุด Reuters รายงานว่ามีการเช่าเรือเก็บน้ำมันดิบลอยลำในทะเล (Floating Storage) บริเวณน่านน้ำสิงคโปร์และมาเลเซียเพิ่มขึ้น ดังเห็นได้จากเรือ Very Large Crude Carrier (VLCC – ความจุประมาณ 2 ล้านบาร์เรล) ประมาณ 10 ลำถูกเช่าตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 60 เป็นระยะเวลา 1-6 เดือน เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 30 ลำ ทั้งนี้ ผู้ค้าคาดการณ์ว่าจีนจะนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจึงเตรียมการไว้ล่วงหน้า
ขณะที่ บริษัท Rosneft ของรัสเซียประสบความสำเร็จในการสำรวจแหล่งผลิตน้ำมันดิบแห่งแรกในทะเล Laptev บริเวณตะวันออกของอาร์กติก คาดว่ามีปริมาณสำรองไฮโดรคาร์บอนประมาณ 9.5 พันล้านตันปริมาณเทียบเท่าน้ำมันดิบ (billion tonnes of oil equivalent) แสดงถึงขีดความสามารถขั้นสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีแม้ถูกชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเทคโนโลยีมากว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะส่งออกน้ำมันดิบต่ำกว่าระดับ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในฤดูร้อนปีนี้ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะลดลงต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรล และคาซัคสถานซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบนอก OPEC ให้คำมั่นว่าจะลดปริมาณการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.00-49.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 44.00– 47.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 45.00-48.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานบริษัท PetroChina ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน มิ.ย. 60 จำนวน 5 เที่ยวเรือ ปริมาณรวม 1.53 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ส่งออกปริมาณ 1.19 ล้านบาร์เรล และ Platts คาดว่ายุโรปจะส่งออกน้ำมันเบนซินมาเอเชียมากขึ้น เนื่องจาก Arbitrage จากยุโรปไปสหรัฐฯ ปิด ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 242.4 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย.60 อยู่ที่ 12.48 ล้านบาร์เรล ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดีย
เผยแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นหลายแห่งในปีนี้ อาทิหน่วย Crude Distillation Unit หรือ CDU กำลังการกลั่น 150,000 บาร์เรลต่อวัน ของโรงกลั่น Panipat (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ก.ค. 60 และ โรงกลั่น Barauni (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดดำเนินการ เดือน ก.ค. – ส.ค. 60, โดยทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาหน่วยการผลิตให้สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปกำมะถันต่ำ ตามข้อบังคับ Bharat 4 (Euro 4) ที่เริ่มใช้เมื่อ เม.ย. 60 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 14 มิ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.19 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.41 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.00-61.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ลดลงจาก NDRC ของจีนอนุมัติโควตาการส่งออกน้ำมันดีเซลรอบที่ 3 ปริมาณ 18.5 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากโควตารอบที่แล้ว 5 ล้านบาร์เรล และ บริษัท Petronas ของมาเลเซีย ออกประมูลขาย น้ำมันดีเซล กำมะถัน 0.5% ปริมาณ 240,000 บาร์เรล ส่งมอบ 28-30 มิ.ย. 60 ทั้งนี้ Petronas มี High Sulphur Gasoil เหลือจากโรงกลั่น Melaka (กำลังการกลั่น 115,000 บาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากมีการเปลี่ยนชนิดน้ำมันดิบเข้ากลั่น ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 151.4 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 14 มิ.ย. 60 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 0.14 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.35 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 10 มิ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.94 ล้านบาร์เรล หรือ 9.43 % อยู่ที่ 8.99 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.00-59.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล