- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 20 June 2017 08:57
- Hits: 4702
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 19-23 มิ.ย. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 12-16 มิ.ย. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 มิ.ย. – 23 มิ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะถูกกดดันต่อเนื่อง จากภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินที่ยังไม่คลี่คลายในเร็วนี้ หลังลิเบียและไนจีเรียเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับ ความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯ ที่เติบโตช้าลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังคาดจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงหลังโรงกลั่นคงกำลังการกลั่นในระดับสูงและปริมาณการนำเข้าจากซาอุดิอาระเบียที่คาดจะปรับลดลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะสามารถตกลงยืดระยะเวลาข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 9 เดือน จนถึงสิ้นสุดไตรมาส 1 / 2560 โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 835,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara เปิดดำเนินการ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไนจีเรียที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังน้ำมันดิบจากแหล่ง Forcados กำลังการผลิตราว 200,000-250,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการส่งออกในเดือนนี้
ตลาดยังคงกังวลกับความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ โดยอุปสงค์น้ำมันเบนซินในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงกว่าร้อยละ 3.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2560 เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 242.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 19.4 ล้านบาร์เรล
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 16 มิ.ย. 2560 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 22 สัปดาห์ติดต่อกันมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ 747 แท่น ส่งผลให้สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดในปี 2560 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้น 430,000 บาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า และปริมาณการผลิตจะสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 780,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2561
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นในประเทศคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง และ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบคาดจะปรับลดลง โดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย ที่คาดจะปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ลดลงจากโดยเฉลี่ยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนนี้ และลดลงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมาอยู่ที่ 850,000 และ 750,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 511.5 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย. – 16 มิ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ รายงานโดย EIA สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านบาร์เรล สร้างความกังวลให้กับตลาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ในช่วงฤดูกาลขับขี่อาจอ่อนตัวกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย ไนจีเรีย และสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการที่ซาอุดิอาระเบียเตรียมลดปริมาณการส่งมอบน้ำมันดิบเดือนก.ค. กับผู้ซื้อบางรายในประเทศจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน และปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ และยุโรปกว่าร้อยละ 35 และ 11 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปริมาณที่ส่งออกในเดือน มิ.ย.