- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 12 June 2017 16:36
- Hits: 2144
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 12-16 มิ.ย.60 และสรุปสถานการณ์ฯ 5-9 มิ.ย.60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 มิ.ย. – 16 มิ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะขยับตัวในกรอบที่จำกัด ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนบนความขัดแย้งของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไนจีเรียจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Forcados รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังซาอุดิอาระเบีย และชาติพันธมิตรเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ บาห์เรน และเยเมน ประกาศตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ และตัดการติดต่อทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้นักวิเคราะห์กังวลว่าความสัมพันธ์ของสมาชิกของกลุ่มโอเปกจะเปราะบางมากยิ่งขึ้น และอาจกระทบต่อความร่วมมือเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปก
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นในประเทศปรับเพิ่มอัตราการกลั่นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ประกอบกับ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับลดลง โดยเฉพาะจากซาอุดิอาระเบียซึ่งต้องการสำรองน้ำมันดิบไว้ใช้สำหรับช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ดี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มิ.ย. 2560 รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับเพิ่มขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 513.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และมีความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐจะล้นตลาด
ตลาดยังคงกังวลกับความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลง ท่ามกลางความคาดหวังว่าฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอุปสงค์น้ำมันเบนซินในระยะเวลา 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงราวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มิ.ย. 2560 ปรับตัวขึ้นราว 12.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 833.3 ล้านบาร์เรล
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไนจีเรียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังมีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Forcados กำลังการผลิตราว 200,000-250,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ไนจีเรียสามารถส่งออกน้ำมันดิบเต็มรูปแบบอีกครั้งในรอบ 16 เดือน โดยทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Forcados มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบ Bonny Light ของไนจีเรียซึ่งโดยปกติจะส่งออกประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน ได้รับผลกระทบจากการที่ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Trans Niger Pipeline ซึ่งใช้สำหรับส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light นั้น หยุดดำเนินการขนส่งกะทันหัน หลังพบรอยรั่วที่ถูกสงสัยว่าจะเกิดจากการเจาะของบุคคลนิรนาม
กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ รายงานโดย Baker Hughes สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 6 มิ.ย. 2560 ปรับเพิ่มขึ้นราว 8 แท่น มาสู่ระดับ 741 แท่น ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 21 ติดต่อกัน โดยแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่มีแท่นขุดเจาะปรับเพิ่มขึ้นที่สุดยังคงเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Permian ซึ่งเป็นแหล่งที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าแหล่งอื่นๆ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกจีน และ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 มิ.ย. – 9 มิ.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลกับความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่หลายประเทศมีการตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่เพิ่งขยายระยะเวลาการปรับลดออกไป นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาดยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์ความไม่สงบคลี่คลายลง