- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 16 August 2014 21:11
- Hits: 2803
กพช.เห็นชอบแผน PDP ใหม่ 20 ปี เน้นความมั่นคงระบบไฟฟ้า-พลังงานทดแทน
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (Power Development Plan : PDP2015) ระยะยาว 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาทตามนโยบายรัฐบาล และการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวโน้มทิศทางพลังงานโลก (World Energy Outlook) ของทบวงพลังงานโลก (International Energy Agency : IEA) โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอ กพช.พิจารณาต่อไป
พร้อมกันนี้ จะปรับกรอบระยะเวลาของแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใหม่ ให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558-2579 เช่นเดียวกับแผน PDP ฉบับใหม่
"รายละเอียดของแผน PDP ในเบื้องต้นจะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงลง จากปัจจุบันมีสัดส่วน 70% โดยกำหนดให้เป็นมีเชื้อเพลิงแต่ละประเภทไม่ควรเกิน 30% โดยอาจเพิ่มการใช้พลังน้ำ ถ่านหินสะอาดเพิ่มมากขึ้น ส่วนนิวเคลียร์จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้ง พร้อมทั้งให้ดูภาพรวมในการใช้ลังงานทดแทนด้านอื่นให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชีวมูล ไบโอแก๊ส พลังงานจากขยะ หรือผลผลิตทางการเกษตร" ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
สำหรับ แนวทางการจัดทำแผน PDP 2015 นั้น จะคำนึงถึงปัจจัยสำคัญคือ 1.ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ 2.ความสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงานฯ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ของประเทศ และ 3.สัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยจะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดด้านเศรษฐกิจสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศ(Sustainability), ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า(Cost Effectiveness), การกระจายแหล่งเชื้อเพลิง(Fuel Diversification) และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(Emission)
ทั้งนี้ การจัดทำแผน PDP 2015 จะมีขั้นตอนสำคัญ 3 ส่วน คือ การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า, การจัดทำร่างแผน PDP และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญการจัดทำแผน PDP นั้น จะคำนึงถึงประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 67% ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม โดยพิจารณาข้อดีข้อเสียของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์, โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการร่วมมือผลิตไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
อินโฟเควสท์