WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 4-8 ส.ค. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 11-15 ส.ค. 57

    ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 97.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 103.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

     กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีรายงานยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (Industrial Orders) ของเยอรมนีในเดือน มิ.ย. 57 ปรับตัวลง 3.2% จากเดือนก่อน  หลังจากที่ปรับตัวลง 1.6%  ในเดือน พ.ค. 57  ซึ่งตัวเลขล่าสุดเป็นการลดลงมากสุดในรอบเกือบ 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งยูเครนที่ทำให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อ สำหรับยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับตัวลงจากเดือนก่อน 4.1%  โดยยอดสั่งซื้อจากยูโรโซนลดลงหนักสุดถึง 10.4% ขณะที่ยอดสั่งซื้อจากนอกกลุ่มยูโรโซนยังคงทรงตัว

    สำนักรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาสที่ 2/57 อยู่ที่ระดับ -6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวสึนามิเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และทรุดตัวลงอีกหลังรัฐบาลประกาศเพิ่มภาษีผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 57 จาก 5% เป็น 8%

    บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดอยู่ที่ระดับ 450,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ประเทศลิเบียจะยังขาดเสถียรภาพทางการเมืองโดยรัฐสภาชุดใหม่ซึ่งย้ายที่ทำการไปยังเมือง Tobruk เป็นเวลา 3 สัปดาห์  ถูกกลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติบางรายคัดค้านว่ารัฐบาลใหม่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

     CFTC รายงานกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการเข้าซื้อสุทธิ (Net Long Position) สัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดที่ 29 ก.ค. 57 ลง 29,119 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 292,741 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

     รัสเซียซ้อมรบทางทหารใกล้ชายแดนยูเครนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแสดงแสนยานุภาพ ขณะที่รัสเซียถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรหนักข้อขึ้นจึงประกาศงดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากตะวันตกตอบโต้เป็นเวลา 1 ปี จึงต้องจับตาว่าการกระทำดังกล่าวจะยิ่งโหมความรุนแรงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สงครามเย็น’ ครั้งใหม่จะกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกอย่างไร

    API รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ส.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน  5.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 363.9 ล้านบาร์เรล  ลดลงมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดเกิน 3 เท่า เนื่องจากอัตราการกลั่นเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน  0.8% มาอยู่ที่ 93.4%

     บริษัท SOCAR ของอาเซอร์ไบจันรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบผ่านรัสเซียในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 57 ลดลง 40.5%จากสัปดาห์มาอยู่ที่ 593,025 ตัน หรือ 4.33 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพิ่มกำลังการกลั่นเพื่อรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

      ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 13  เดือน จากสภาะวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด โดยทางด้านอุปสงค์ทั้ง IEA และ EIA ต่างปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 57 มาอยู่ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน180,000 บาร์เรลต่อวัน) และ 1.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน) และด้านอุปทาน OPEC สามารถผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 57 สูงที่สุดในรอบ 5 เดือน อยู่ที่ระดับ 30.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน) กอปรกับสหรัฐฯ ยังคงมีเสถียรภาพในการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในเดือน ก.ค. 57 สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันได้ที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน  สูงสุดในรอบ 27 ปี และคาดว่าในปี 57 และ 58 สหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นจากที่ EIA คาดการณ์ไว้ครั้งก่อนเฉลี่ยที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน  และ9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ตามลำดับ ซึ่งความสามารถในการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ กดดันตลาดน้ำมันดิบ Brent ในภูมิภาคยุโรปซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบหลัก โดยภาพรวมของปัจจัยพื้นฐานตลาดน้ำมันบดบังความร้อนแรงด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศผู้ผลิต เช่น อิรัก ลิเบียและยูเครน ส่งผลให้นักลงทุนต่างเทขายทำกำไรต่อเนื่อง

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

     สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพราะเวียดนามหยุดนำเข้า Diesel จากตลาดจร เนื่องจากปริมาณสำรองอยู่ในระดับสูงหลังโรงกลั่น Dung Quat กำลังการกลั่น300,000 บาร์เรลต่อวัน  กลับมาดำเนินการ และอุปทาน Diesel จากคู่ค้ายังมีเพียงพอสำหรับส่งมอบให้ลูกค้าในประเทศ ประกอบกับ โรงกลั่นน้ำมัน Mizushima  กำลังการกลั่น205,000 บาร์เรลต่อวัน ของบริษัท JX Nippon Oil & Energy ในญี่ปุ่นกลับมาเปิดดำเนินการหน่วย CDU No. 3 (110,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังจากปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 57 ด้านการแข่งขันจากโรงกลั่นนอกเอเชีย Reuters รายงานว่า Arbitrage ของ Gasoline จากยุโรปสู่สหรัฐฯ มีแนวโน้มปิดต่อเนื่อง หลังปริมาณสำรอง Gasoline ในสหรัฐฯ ปีนี้สูงเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เร่งอัตราการกลั่นเกือบเต็มกำลัง ดังนั้น Arbitrage จากยุโรปทั้งหมดจึงมุ่งหน้าสู่แอฟริกาตะวันตกโดยเฉพาะไนจีเรีย แข่งกับ Arbitrage จากตะวันออกกลาง

    สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 111-115.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

    สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง จากบริษัท Sinopec และ PetroChina ของจีนประเมินว่ายอดขาย Diesel ในจีน ปี 57 มีแนวโน้มลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ หลังภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งลดการใช้รถบรรทุกเครื่องยนต์ Diesel เพื่อขนส่งถ่านหิน อีกทั้ง Qatar International Petroleum Marketing Co. (Tasweeq) ประมูลขาย Ultra-Light Sulphur Diesel (ULSD) เที่ยวเรือแรก ที่กลั่นได้จากหน่วย Hydrotreater ใหม่กำลังการผลิต 54,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จในโรงกลั่นน้ำมัน Laffan ขนาด146,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางหันมาผลิต ULSD มากขึ้นเพื่อเน้นส่งออกไปยังยุโรปซึ่งมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง

     สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 117-121.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!