- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 18 May 2017 22:32
- Hits: 9370
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสถาบันสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ค. 60 ปรับตัวลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล ลงไปสู่ระดับ 520.8 ล้านบาร์เรลและเป็นการปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน ทั้งนี้โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ มีอัตราการกลั่นเพิ่มขึ้น 363,000 บาร์เรล
+ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงจากข่าวการถูกฟ้องร้องของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบมีมูลค่าต่ำลงในสายตานักลงทุนที่ถือครองเงินสกุลอื่นๆ
+ ล่าสุดท่าทีของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย สองประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ยังคงมีท่าทีที่จะสนับสนุนข้อเสนอในการต่อระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปถึงเดือน มี.ค. 61 คือ การลดอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกิน ให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกลดลงมาอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี เพื่อรักษาสมดุลของตลาด โดยกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มรายสำคัญจะมีการประชุม ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในวันที่ 25 พ.ค. 60 นี้
- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 10 จากช่วงกลางปี 2560 ขึ้นมาแตะระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการผลิตของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย และคาดว่าจะปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2561 นี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศอินเดียที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ในเดือนที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อุปทานที่ยังทรงตัวจากการซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาคโดยการผลิตน้ำมันดีเซลในประเทศเกาหลีใต้ช่วงไตรมาสแรกปรับตัวลดลงร้อยละ 14 ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าโรงกลั่นในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะคงระดับการผลิตน้ำมันดีเซลไว้
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มเป็นไปได้มากขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกหลายประเทศ รวมถึง ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และแอลจีเรียสนับสนุนให้มีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 นอกจากนี้ ข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 เริ่มเห็นผล หลังสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเดือนเม.ย. ปรับลดลง 1.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 23.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตลาดยังคงกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากการเปิดดำเนินการของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel กำลังการผลิตรวมกันราว 420,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กำลังการผลิตล่าสุดของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 และสูงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาราว 30,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1.1 – 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากสถานการณ์ภายในประเทศสงบลง