WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL3สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 8-12 พ.ค. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 15-19 พ.ค. 60

โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
        สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบปรับลดลงทุกชนิด ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) ลดลง 0.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.02  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น  0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่

ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
  •        Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 12 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 17)  อยู่ที่ 712 แท่น
  •       Energy Information Administration (EIA) คาดในปี พ.ศ. 2560 สหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันดิบที่ 9.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ สูงกว่าประมาณการณ์เดือนก่อนที่ EIA คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • หน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 9 % มาอยู่ที่ 8.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน และโรงกลั่นเอกชนใช้โควต้านำเข้าน้ำมันดิบใกล้หมด
  •        บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา (PDVSA) รายงานโรงกลั่น 3 โรงจาก 4 โรง ในประเทศมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดย Paraguana Refining Center (กำลังการกลั่น 955,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งรวมโรงกลั่น Cardon และ Amuay มีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 43% หรือ 409,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงกลั่น Puerto la Cruz (กำลังการกลั่น 187,000 บาร์เรลต่อวัน)  ดำเนินการที่ระดับต่ำสุด เนื่องจากปัญหาที่หน่วย CDU 2 หน่วย จากทั้งหมด 3 หน่วย ปิดดำเนินการ
  •       Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ ICE ที่ลอนดอน และ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุด 9 พ.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 31,037 สัญญา อยู่ที่ 194,021 สัญญา ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 59
 

ปัจจัยส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
  •        EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 522.5 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
  •        กลุ่ม OPEC 11 ประเทศ (ไม่นับรวมลิเบียและไนจีเรีย ที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงลดปริมาณการผลิต) ผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน เม.ย. 60 ลดลง อยู่ที่ 29.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน  คิดเป็นอัตราความร่วมมือ (Compliance Rate) 111 % ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย
  •          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของซาอุฯ นาย Khalid al-Falih ให้คำมั่นว่า ‘พร้อมกระทำทุกประการ’ เพื่อปรับสมดุลตลาดให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบลดลงกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี  โดยขยายเวลาลดปริมาณการผลิตถึงสิ้นปีนี้และอาจขยายเวลาเลยไปถึงปีหน้าอีกด้วย (ทั้งนี้ ดร. Fereidun Fesharaki ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน FGE ชาวอิหร่าน ชี้ว่า OPEC กำลังพิจารณาขยายกรอบเวลาลดการผลิตออกไปอีก 9-12 เดือน เพราะเชื่อว่าแค่เพียง 6 เดือนจะไม่พอต่อการปรับสมดุล)
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ 
         ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงสัปดาห์ก่อนเพราะผู้ค้าน้ำมันเห็นว่า OPEC และรัสเซียจะร่วมมือกันขยายเวลาในการลดการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่องออกไปถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย และวันนี้ นาย Khalid al-Falih และนาย Alexander Novak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียและของรัสเซียจะหารือเพิ่มเติมในประเด็นนี้กันที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่วนทางด้านจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17 สัปดาห์ต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีด้วยจำนวนที่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่าเท่าตัว แต่อัตราการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลง ดังเห็นได้จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นรวม 4 สัปดาห์หลังสุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 60 ขณะที่ทางด้านสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 59 สวนทางกับสถานะถือครองสุทธิสัญญาก๊าซธรรมชาติซึ่งเพิ่มขึ้น 9 ใน 10 สัปดาห์หลังสุด สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 57 เนื่องจากการผลิตมีแนวโน้มลดลงและการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ตรงข้ามกับการผลิตน้ำมันดิบซึ่งเพิ่มขึ้นจากกลางปีก่อนกว่า 10 % มาอยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
         และ EIA ชี้ว่าสหรัฐฯ จะส่งออกก๊าซผ่านทางท่อขนส่งและในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas-LNG) ในปีนี้ปริมาณ 8.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้สหรัฐฯ กลับกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสุทธิ (Net Exporter) ก๊าซธรรมชาติหลังจากดำรงสถานะผู้นำเข้าสุทธิมา 6 ทศวรรษ ทำให้คาดการณ์ว่าปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวปีนี้อยู่ที่ 3.6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบกับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.0 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อปีก่อน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปีที่ 3.9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.0-52.0 และราคาน้ำมันดิบ WTI NYMEX จะอยู่ในกรอบ 45.0-49.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในกรอบ 47.0-51.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล   

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
      ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก บริษัท Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันลดอัตราการกลั่นที่โรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ลงมาอยู่ที่ 92% จากเดิมที่ 95% ในช่วงต้นเดือน พ.ค. 60 เนื่องจากเกิดปัญหาทางเทคนิคที่หน่วย CDU (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน) อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ประกาศวันปิดซ่อมบำรุงหน่วยดังกล่าว เนื่องจากมีเทอมส่งมอบน้ำมันสำเร็จรูปในเดือน มิ.ย. 60 และ Platts รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของพม่าในปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 48,700 บาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อัตราการเติบโตในปี พ.ศ. 2560 ที่ 7% ต่อปี ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.11 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.16 ล้านบาร์เรล ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตาม JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ของญี่ปุ่นเผยกลับมาเปิดดำเนินการหน่วย CDU (กำลังการกลั่น 90,200 บาร์เรลต่อวัน) ของโรงกลั่น Mizushima  (กำลังการกลั่น 250,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังจากปิดซ่อมบำรุงไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 60 ประกอบกับ Platts รายงาน บริษัท Qatar Petroleum ของกาตาร์ ออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน  95 RON ปริมาณ 206,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 22-26 มิ.ย. 60 ทั้งนี้ โดยทั่วไปกาตาร์ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกอย่างสม่ำเสมอ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.0-66.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ตลาดน้ำมันดีเซล
       ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแรงซื้อของอินเดีย โดย บริษัท Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ของอินเดีย ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.004%S ปริมาณ 447,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 25-30 พ.ค. 60 หลังมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Bathinda (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสัปดาห์นี้ เป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง และ บริษัท India Oil Corp. (IOC) ของอินเดีย ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.004%S จำนวน 2 เที่ยวเรือๆ ละปริมาณ 194,000-208,000  บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 20-22 พ.ค. 60 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.22 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.51 ล้านบาร์เรล ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Kuwait Petroleum Corp. (KPC) ของคูเวตมีแผนเริ่มดำเนินการหน่วย CDU (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Mina Al-Ahmadi (กำลังการกลั่น 466,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสัปดาห์นี้ หลังจากปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลากว่า 30 วัน  สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.0-61.0  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!