- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 10 May 2017 17:20
- Hits: 3953
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่แสดงความมั่นใจในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิต
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียออกมาแสดงความคิดเห็นว่าซาอุดิอาระเบียจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตลาดน้ำมันดิบกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น และแสดงความมั่นใจว่ามีความเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่นอกกลุ่มโอเปกจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการขยายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 2560 หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น
+ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของคูเวตได้ออกมาเปิดเผยว่า ผู้ผลิตน้ำมันดิบหลายรายเตรียมศึกษาหาวิธีการที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไปอีกหลังจากสิ้นสุดเดือน มิ.ย.
+ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ยังเป็นอีกปัจจัยที่จะหนุนให้กลุ่มโอเปกเตรียมปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2560
- อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 นับตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2559 ไปสู่ระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อย่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 60 ประมาณการอยู่ที่ระดับ 5.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าในช่วงสิ้นปี 2559 ที่ระดับ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในภูมิภาคที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อจากบังคลาเทศ อย่างไรก็ตาม ยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งหลังการปิดซ่อมบำรุง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หลังล่าสุดรัสเซียเผยว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในวันที่ 1 พ.ค. ปรับลดลงราว 300,790 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่ารัสเซียปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าข้อตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการขยายระยะเวลาการของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งจะมีการตกลงกันในวันที่ 25 พ.ค. 60
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 191,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ในช่วง 4 สัปดาห์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara กำลังการผลิตประมาณ 330,000 บาร์เรลต่อวัน และแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิตประมาณ 90,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการประท้วงปิดกั้นท่อขนส่งน้ำมันดิบสิ้นสุดลง ส่งผลให้ล่าสุด ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 760,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับก่อนหน้านี้ที่ 491,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ รัฐบาลลิเบียยังตั้งเป้าหมายที่จะผลิตน้ำมันดิบแตะระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือนส.ค. 60