- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 08 May 2017 23:53
- Hits: 8556
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 8 - 12 พ.ค. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 1 - 5 พ.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 8 – 12 พ.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัว จากความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับการปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จากความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel ในลิเบียกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังการเปิดให้บริการท่อขนส่งน้ำมันดิบ Dakota Access Pipeline และ Energy Transfer Crude Oil Co Pipeline และการปรับเพิ่มขึ้นของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หลังล่าสุดรัสเซียเผยว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในวันที่ 1 พ.ค. 60 ปรับลดลงราว 300,790 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในเดือน ต.ค. 59 ที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่ารัสเซียปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าข้อตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งจะมีการตัดสินใจในวันที่ 25 พ.ค. 60
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 191,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ในช่วง 4 สัปดาห์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara กำลังการผลิตประมาณ 330,000 บาร์เรลต่อวัน และแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิตประมาณ 90,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการประท้วงปิดกั้นท่อขนส่งน้ำมันดิบยุติลง ส่งผลให้ล่าสุด ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 760,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับก่อนหน้านี้ที่ 491,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ รัฐบาลลิเบียยังตั้งเป้าหมายที่จะผลิตน้ำมันดิบแตะระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือนส.ค. 60
ติดตามการเปิดให้บริการท่อขนส่งน้ำมันดิบ Dakota Access Pipeline และ Energy Transfer Crude Oil Co Pipeline กำลังการขนส่ง 470,000 บาร์เรลต่อวัน หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบทั้ง 2 ท่อจะเปิดดำเนินการในวันที่ 14 พ.ค.60 นี้ ซึ่งท่อขนส่ง Dakota Access Pipeline เชื่อมต่อระหว่างแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Bakken กับ Pakota รัฐ Illinois ในขณะที่ ท่อขนส่ง Energy Transfer Crude Oil Co Pipeline เชื่อมต่อระหว่าง Pakota รัฐ Illinois กับ Nederland รัฐ Texas ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Bakken ปรับตัวลดลงราว 3 – 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถไฟ
จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐฯ กลับมาผลิตเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีความคุ้มทุนในการผลิตน้ำมันดิบ โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พค.60 ปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่น มาอยู่ที่ 703 แท่น
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน และ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 – 5 พ.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความกังวลกับอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ แคนาดา และลิเบีย นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากผลสำรวจของรอยเตอร์ ที่รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเดือนเม.ย. 60 ทั้ง 11 ประเทศที่ให้ความร่วมมือตามข้อตกลง ปรับเพิ่มขึ้นราว 20,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 29.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกที่คาดว่าจะมีการขยายระยะเวลาไปสู่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 แต่ก็มีความเป็นไปได้ยากที่จะปรับลดที่ปริมาณมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐที่ปรับลดลงราว 930,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 527.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการปรับลดลงของกำลังการผลิตรัสเซีย