- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 08 May 2017 23:51
- Hits: 8773
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปสัปดาห์ที่ 1-5 พ.ค. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 8-12 พ.ค. 60
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 3.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
- Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC 11 (ไม่รวมลิเบียและไนจีเรียที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องลดปริมาณการผลิต) เดือน เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ดำเนินการตามมติ ส่งผลให้ระดับความร่วมมือ (Compliance Rate) คิดเป็น 90 % ลดลงจากเดือน มี.ค. 60 ที่ 92 %
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6 แท่น (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 16) อยู่ที่ 703 แท่น
- ประธานกรรมการบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corporation หรือ NOC) นาย Mustafa Sanalla กล่าวว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ที่ระดับ 760,000 บาร์เรลต่อวัน หลังแหล่งน้ำมันดิบ Sharara (ปริมาณการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาผลิตน้ำมันดิบและมีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตสู่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 193,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 9.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกิจกรรมการขุดเจาะในรัฐ Texas ที่กลับมาอยู่ในระดับสูง
- ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นาย Donald Trump ออกคำสั่งอำนาจบริหารสูงสุด (Executive Order) ให้ใช้พื้นที่ National Monument ในการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม และ อนุญาตให้บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้าขุดเจาะนอกชายฝั่งของสหรัฐฯ เช่น นอกชายฝั่งทะเลแอตแลนติก แปซิฟิก และอาร์กติก โดยสั่งให้ The U.S. Department of Interior ทบทวนกฎหมายและยกเลิกข้อบังคับที่ใช้ในสมัยประธานาธิบดี Barack Obama
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 2 พ.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 60,882 สัญญา อยู่ที่ 224,058 สัญญา ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2
ปัจจัยส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 28 เม.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 527.8 ล้านบาร์เรล
- Energy Aspects รายงาน National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนมีแผนอนุมัติโควต้านำเข้าน้ำมันดิบแก่โรงกลั่นอิสระในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2-0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 1.6-1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Reuters รายงานบริษัท China National Petroleum Corp. (CNPC) ของจีนเริ่มดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบจากพม่าสู่จีน (Myanmar - China Crude Oil Pipeline) โดยสูบถ่ายน้ำมันดิบเป็นครั้งแรก ปริมาณ 173,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 1,150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จากท่า Kyauk Phyu ในพม่าไปยังจีน (ระบบท่อมีปริมาณการสูบถ่าย 440,000 บาร์เรลต่อวัน และท่อมีความยาว 770 กม.) เพื่อป้อนน้ำมันดิบให้โรงกลั่น Anning (กำลังการกลั่น 260,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เมือง Kunming ทางตอนใต้ของจีน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบสัปดาห์ก่อนลดลงจากปัจจัยด้านอุปทาน อาทิ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯเดินหน้าสนับสนุนการสำรวจและผลิตน้ำมันจาก Federal Land ในขณะที่อุปทานน้ำมันจากลิเบียเพิ่มขึ้นหลังรัฐบาลบรรลุข้อตกลงกับกองกำลังติดอาวุธ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขการจ้างงานที่ดีของสหรัฐฯ กอปรกับชัยชนะของนาย Emmanuel Macron ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบสุดท้ายด้วยคะแนนเสียง 65.8% เพิ่มความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี และที่สำคัญฝรั่งเศสยังคงอยู่ในสหภาพยุโรป โดยนาย Macron สัญญากับชาวฝรั่งเศสว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ความเป็นอยู่ของชาวฝรั่งเศสดีขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ
ด้านตลาดน้ำมัน กรรมาธิการ OPEC ของประเทศซาอุดีอาระเบียเผยกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC มีความเห็นตรงกันในการขยายกรอบเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบออกไปจากเดิมสิ้นสุดที่เดือน มิ.ย. 60 ทั้งนี้รัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid Al-Falih ได้นัดหมายกับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย นาย Alexander Novak เพื่อหารือเกี่ยวกับสภาพตลาดน้ำมันในปัจจุบัน ภายใน 10 วันนี้ก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างผู้ผลิตในวันที่ 24-25 พ.ค. 60 ทางด้านผู้ผลิตของ OPEC อาทิ อิหร่านแสดงความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบที่เหมาะสมกับสภาพตลาดปัจจุบันควรอยู่ที่ 55.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.0-53.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 45.0- 51.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในกรอบ 47.0-52.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลงจาก Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันเร่งอัตราการกลั่นของโรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของเอเชีย) ในเดือน พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 25% มาอยู่ที่ 95% หลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 241.2 ล้านบาร์เรล สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี) อีกทั้งช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอิหร่านเปิดดำเนินการโรงกลั่น Persian Gulf Star (กำลังการกลั่น 360,000 บาร์เรลต่อวัน) โดยหน่วย Condensate Splitter ระยะแรกกลั่นน้ำมันที่ระดับ 120,000 บาร์เรลต่อวัน ผลิตน้ำมันเบนซินได้ 28,000 บาร์เรลต่อวัน และในไตรมาส 1/2562 Petronas ของมาเลเซียมีแผนเริ่มเดินเครื่องโรงกลั่น RAPID หรือ Refinery and Petrochemical Integrated Development (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน ) ในรัฐยะโฮร์ ซึ่งร่วมลงทุนกับบริษัท Saudi Aramco สามารถผลิตน้ำมันเบนซินได้ปริมาณ 98,000 บาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม Platts คาดการณ์โรงกลั่นในญี่ปุ่นปิดซ่อมบำรุงในเดือน พ.ค. - มิ.ย. 60 ปริมาณ 0.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คิดเป็น 20% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด) ส่งผลให้โรงกลั่นในประเทศญี่ปุ่นกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 2.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงโรงกลั่นเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุงสูงสุด และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 3 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.56 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.27 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.0-64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ตลาดน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Kuwait Petroleum Corp. (KPC) ของคูเวตมีแผนเริ่มดำเนินการหน่วย Crude Distillation Unit (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Mina Al-Ahmadi (กำลังการกลั่น 466,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสัปดาห์นี้ หลังจากปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลากว่า 30 วัน ประกอบกับ Bloomberg รายงานโรงกลั่น Middle East Oil Refinery (MEOR) ของบริษัท Egyptian General Petroleum Corporation (EGPC) ในอียิปต์ ออกประมูลขายน้ำมันดีเซลกำมะถันสูง ปริมาณ 223,000 บาร์เรล ส่งมอบ 15-17 พ.ค. 60 อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปริมาณการค้าน้ำมันดีเซลในช่วง Platts Window ในตลาดสิงคโปร์ เดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ 7.17 ล้านบาร์เรล จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา และปากีสถาน ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 3 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.44 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.73 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 150.4 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล