- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 02 May 2017 23:26
- Hits: 9449
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปสัปดาห์ที่ 24-28 เม.ย. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 1-5 พ.ค. 60
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น มาอยู่ที่ 697 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 15
- IEA ประเมินว่าการผลิต Shale oil ที่แหล่ง Permian ในมลรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ ปัจจุบันมีต้นทุน (Break Even) ที่ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้การผลิต Shale oil จากแหล่งดังกล่าวซึ่งถือเป็น Un-conventional Oil มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับ Conventional Oil มากขึ้น
- Reuters รายงานว่าบริษัท Mercuria ส่งออกน้ำมันดิบ Bakken น้ำมันดิบ Mars Sour และน้ำมันดิบ DSW (Domestic Sweet) ปริมาณรวมทั้งหมด 600,000 บาร์เรล จากสหรัฐฯ สู่สิงคโปร์ นับเป็นการส่งออกน้ำมันดิบจากรัฐ North Dakota สู่เอเชียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อนึ่ง หลังท่อขนส่ง Dakota Access (DAPL - 470,000 บาร์เรลต่อวัน) เปิดใช้งานในเดือน พ.ค. 60 จะยิ่งเอื้อให้ลำเลียงน้ำมันดิบ Bakken จากรัฐดังกล่าวไปสู่ท่าส่งออกที่ Gulf Coast ได้สะดวกขึ้น
- Energy Information Administration (EIA) ระบุในรายงาน Drilling Productivity Report ว่าปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 60 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 5.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 58)
- Reuters รายงานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corp. หรือ NOC) ประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara (300,000 บาร์เรลต่อวัน) และ El Feel (130,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 27 เม.ย. 60 หลัง NOC บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มติดอาวุธที่ยึดท่อขนส่งตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 60 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 760,000 บาร์เรลต่อวัน และ NOC มีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตมาอยู่ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 60
ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
- สำนักวิจัยด้านพลังงาน Energy Aspects รายงานผู้ผลิตน้ำมันลดปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือน มี.ค. 60 ลง 1.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นระดับความร่วมมือ หรือ Compliance rate ที่ 97% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 60 ที่ 81%
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 เม.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 528.7 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดการณ์เกือบ 2 เท่า และสวนทางกับรายงานของ API
- National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนอนุมัติโควตานำเข้าน้ำมันดิบ ในปี พ.ศ.2560 ให้โรงกลั่นอิสระ 3 แห่งในมณฑล Shandong ปริมาณรวมประมาณ 54.4 ล้านบาร์เรล
- Korea National Oil Corp. (KNOC) รายงานเกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้น จากปีก่อน 11.7 % อยู่ที่ 95.9 ล้านบาร์เรล หรือ 3.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันลดลงเนื่องจากความกังวลทางด้านอุปทานที่ยังมีปริมาณมากหลังจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย Sharara และ El Feel กลับมาเปิดดำเนินการ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 760,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณอุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากการกลับมาของผู้ผลิต Shale กอปรกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 60 เพิ่มขึ้น 193,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 9.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกิจกรรมการขุดเจาะในรัฐ Texas ที่กลับมาอยู่ในระดับสูง นาย Harold Ham ประธานกรรมการบริษัท Continental Resources คาดอัตราการเติบโตของการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Permian ในรัฐ Taxas เติบโตอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2560 และคาดว่าตลาดน้ำมันจะใช้เวลาอีกสักพักในการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้น เห็นได้จากตัวเลขแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 15 โดย Baker Hughes Inc. รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้น 9 แท่น มาอยู่ที่ 697 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 ล่าสุดหลังจากประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นาย Donald Trump ออกคำสั่งอำนาจบริหารสูงสุด (Executive Order) ให้ใช้พื้นที่ National Monument ในการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม นาย Donald Trump ได้ลงนาม Executive Order อีกฉบับอนุญาติให้บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้าขุดเจาะนอกชายฝั่งของสหรัฐฯ เช่นนอกชายฝั่งทะเลแอตแลนติก แปซิฟิก และอาร์กติก โดยสั่งให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนกฏหมายและยกเลิกกฏบังคับในสมัยประธานาธิบดี Obama
ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.0-53.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 48.2-51.6 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 48.5-51.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลงจากจีนและอินเดียเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นมาก ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 22 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.46 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.62 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 9 สัปดาห์ และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.13 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.83 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 8 เดือน ด้านปริมาณสำรองที่ Fujairah Energy Data Committee รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ ที่ Fujairah Oil Industry Zone (FOIZ) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัปดาห์สิ้นสุด 24 เม.ย. 60 ลดลง 0.97 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 7.2 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์ฯ น้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.9-67.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจากการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนเดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53 % มาอยู่ที่ 14.32 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 19.6 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ Platts รายงานว่าผู้ค้าน้ำมันแถบเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรปหันมาผสม Light Cycle Oil (LCO) เป็นน้ำมันดีเซล (มีคุณสมบัติเสมือนน้ำมันดีเซลแต่คุณภาพลดลงมาเล็กน้อย) และมีตลาดรองรับ เช่น ตูนิเซีย ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.88 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.17 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 22 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 0.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 9.4 ล้านบาร์เรล และ FOIZ รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัปดาห์สิ้นสุด 24 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 4.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานว่าอุปทานน้ำมันดีเซล ฝั่งตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนตึงตัวเนื่องจากการขนส่งจากทะเลดำผ่านช่องแคบตุรกีมีอุปสรรคจากสภาพอากาศเลวร้าย ประกอบกับฤดูปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซียยังคงดำเนินต่อเนื่องและมีแรงซื้อจาก บริษัท Saigon Petro ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S จำนวน 5 เที่ยวเรือๆ ละ 75,000 บาร์เรล ส่งมอบ เดือน มิ.ย.-ก.ค. 60
สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.2-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล