WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

EGATกรศษฏ ภคโชตานนทกฟผ. เตรียมเปิดประมูลผู้รับเหมาโครงการ Energy Storage ภายในปีนี้ ปรับกลยุทธ์มุ่งสู่  Energy 4.0

       นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในโอกาสจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา 48 ปี กฟผ.ว่า ปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 16,385 เมกะวัตต์ คิดเป็น 39.43% ของระบบผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศที่ 41,556.25 เมกะวัตต์

      สำหรับ ก้าวต่อไป กฟผ.มุ่งสู่ Energy 4.0 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) นำร่องที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านระบบสารสนเทศ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพ และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้บางช่วงเวลาให้พึ่งพาได้ตลอดเวลา โดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบที่เรียกว่า Hybrid เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับและกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ลำตะคอง จ.นครราชสีมา รวมถึงมีการเตรียมรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนารถต้นแบบและสถานีชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนเตรียมพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. นนทบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

      โดย กฟผ. เตรียมเปิดประมูลระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ จ.ชัยภูมิและจ.ลพบุรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาก โดยในส่วนของชัยภูมิมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขณะที่จ.ลพบุรี มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลผู้รับเหมาระบบกักเก็บพลังงาน ได้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับพลังงานทดแทนในพื้นที่ชัยภูมิ 16 เมกะวัตต์ และลพบุรี 21 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท (1 เมกะวัตต์ ในเงินลงทุนปริมาณ 100 ล้านบาท)

      "ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยังจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่ง กฟผ.จะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับในส่วนนี้ รวมทั้งกังวลว่าหากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหายไปจากระบบจำนวนมาก ระบบอาจรับไม่ทัน ดังนั้น กฟผ. เห็นว่าควรมีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับพลังงานทดแทนเพื่อช่วยระบบให้มีความมั่นคง"

     สำหรับ ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ ยังรอความชัดเจนจากทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพราะกระบวนการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ที่ กฟผ. ทำไปแล้ว หากให้ทำใหม่แบบเดิมก็จะเกิดปัญหาเดิมอีก ดังนั้นจะต้องรอคำตอบจากทาง สผ.ก่อนว่าจะให้ กฟผ.ดำเนินการอย่างไรต่อไป

      ขณะที่แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของ กฟผ. มีเป้าที่ 2 พันเมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP2015) ที่ปลายแผนจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เพิ่มสัดส่วนการพลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) เป็น 40%

     นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โรงของ กฟผ. ในช่วงปลายแผน PDP 2015 อาจไม่เกิด จากปัจจุบัน กฟผ.มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 1 โรง และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 โรง ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของ กฟผ.อาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากต้นทุนพลังงานทดแทนและระบบกักเก็บพลังงานสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

       นอกจากนี้ กฟผ.มีเป้าหมายชัดเจนที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสนธิสัญญา COP 21 ที่ กฟผ.ร่วมรับผิดชอบเป้าหมายของประเทศให้ได้ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2563 และ 8 ล้านตันฯ ในปี 2568 และ 12 ล้านตันฯ ในปี 2573

      อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!